ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือน ก.พ.56 ลดลง 3.52% เมื่อเทียบเดือนม.ค.56 โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลด้านบวก คือ HDD เครื่องปรับอากาศ เครื่องประดับเพชรพลอย บุหรี่ กระเบื้องปูพื้นบุผนัง ส่วนอุตสาหกรรมที่ส่งผลทางด้านลบ ได้แก่ รถยนต์ อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง เม็ดพลาสติก ปิโตรเลียม และเบียร์
สำหรับอัตราการใช้กำลังผลิตเดือน ก.พ.อยู่ที่ 62.87% จาก 67.01% ในเดือน ม.ค.56
ทั้งนี้ ดัชนีผลผลิตเฉลี่ย 2 เดือน ปี 56 (ม.ค.-ก.พ.) อยู่ที่ 173.06 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 43% อุตสาหกรรมที่ส่งผลบด้านบวก ได้แก่ รถยยนต์ เครื่องปรับอากาศ ผลิตภัณฑ์นม ชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิคส์ ปั่นด้ายทอผ้า อุตสาหกรรมที่ส่งผลด้านลบ ได้แก่ ปิโตรเลียม HDD เสื้อผ้าสำเร็จรูป รถจักรยานยนต์ อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง โดยอัตราการใช้กำลังผลิตอยู่ที่ 64.94%
สศอ.ยังเปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน ก.พ.56 อยู่ในระดับ 95.5 ปรับตัวลดลงจากระดับ 97.3 ในเดือนม.ค. โดยดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 แสดงถึงความเชื่อมั่นผู้ประกอบการยังอยู่ในระดับที่ไม่ดี แต่ทั้งนี้ดัชนีคาดการณ์กลับมามีค่ามากกว่า 100 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตที่ดี อย่างไรก็ตามยอดคำสั่งซื้อโดยรวมและยอดขายโดยรวมยังคงมีค่าสูงกว่าระดับ 100 ในเดือนนี้
นอกจากนี้ปีนี้ IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัว 3.5% ซึ่งการคาดการณ์ส่วนใหญ่ในครั้งนี้ปรับตัวลดลงจากการคาดการณ์ครั้งก่อน สะท้อนถึงความกังวลต่อทิศทางเศรษฐกิจโลกในอนาคต โดยสถานการณ์เงินบาทแข็งค่าขึ้นค่อนข้างมากในช่วง 3 สัปดาห์แรกของปี 56 หลังจากนั้นค่าเงินบาทค่อนข้างทรงตัวและกลับมาแข็งค่าขึ้นมากอีกครั้งในช่วงเดือนมีนาคม
ส่วนสถานการณ์ค่าเงินบาทของไทยเมื่อเทียบกับช่วงต้นปีแข็งค่าขึ้น 3.76% ในขณะที่อินโดนีเซียและมาเลเซียค่าเงินอ่อนลง รวมถึงค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลงถึง 7.32% ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการเพิ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางญี่ปุ่น
ทั้งนี้ ผลจากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น 4.05% (เฉลี่ยเดือนก.พ.56 เมื่อเทียบกับปี 55) มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม 2 เดือนแรกของปี 56 ลดลง 35,733.92 ล้านบาทและทั้งปี 56 มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมลดลง 232,489.13 ล้านบาท และคาดการณ์ว่า ทั้งปี 56 การส่งออกจะส่งออกได้ 184,573 ล้านเหรียญ ซึ่งจะทำให้ GDP อุตสาหกรรม 56 ลดลง 2.72% หรือ 4,745,000 ล้านบาท ซึ่งจะมีผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม คือ กลุ่มที่ 1 การส่งออกมากและการนำเข้าน้อย โดยเฉพาะยางและเฟอร์นิเจอร์ กลุ่มที่ 2 การส่งออกมากและการนำเข้ามาก คือ อุปกรณ์การแพทย์ อัญมณี เครื่องจักรและอุปกรณ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มที่ 3 การส่งออกน้อย และการนำเข้ามาก คือ เคมีภัณฑ์ เหล็ก
นอกจากนี้ อุตสาหกรรมรายสาขาสำคัญเดือน ก.พ.56 และแนวโน้มไตรมาสแรก ปี 56 โดยอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือน ก.พ.56 ขยายตัวจากปีก่อน เนื่องจากผู้ผลิตรถยนต์เร่งการผลิตเพื่อให้ทันต่อการส่งมอบ จำนวน 229,204 คันเพิ่มขึ้น 36.35% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งแนวโน้มไตรมาสแรก คาดว่าจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากโรงงานผลิตรถยนต์เร่งการผลิตเพื่อให้ทันต่อความต้องการของลูกค้า โดยคากว่าจะผลิตให้ได้ประมาณ 710,000 คัน หรือเพิ่มขึ้น 42.19%
อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า ขยายตัวเพิ่มขึ้น 7.91% คาดว่าไตรมาสแรก การผลิตจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 8% เป็นผลมาจากภาคการก่อสร้างทั้งโครงการภาครัฐและการลงทุนของภาคเอกชน อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวลดลง 6.27% มาจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการปรับตัวลดลง 7.80% เนื่องจากความต้องการในตลาดอิเล็กทรอนิกส์เริ่มชะลอตัวจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่แน่นอน รวมถึงความต้องการ HDD ในตลาดเริ่มชะลอตัวลงด้วย จากการเติบโตของสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต ที่มีความต้องการสูงชึ้น ขณะที่กลุ่มไฟฟ้า ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.96% โดยคาดว่าอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาสแรก การผลิตจะขยายตัวได้ 10% จากความต้องการในประเทศตามการกระตุ้นนโยบายเศรษฐกิจที่ทำให้กำลังซื้อในประเทศเพิ่มขึ้น