(เพิ่มเติม1) พาณิชย์เผยก.พ.ส่งออกลดลง 5.83% นำเข้าโต 5.27% ขาดดุล 1,557 ล้านดอลลาร์

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 28, 2013 14:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางวัชรี วิมุกตายน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือน ก.พ.56 ว่า การส่งออกในเดือนนี้ลดลง 5.83% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นมูลค่า 17,928 ล้านดอลลาร์ ขณะที่การนำเข้าขยายตัวเพิ่มขึ้น 5.27% คิดเป็นมูลค่า 19,185 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ขาดดุลการค้าราว 1,557 ล้านดอลลาร์

ส่วนการส่งออกในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้(ม.ค.-ก.พ.56) เพิ่มขึ้น 4.09% คิดเป็นมูลค่า 36,196 ล้านดอลลาร์ ขณะที่การนำเข้าเพิ่มขึ้น 22.24% คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 43,240 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ไทยขาดดุลการค้า 7,044 ล้านดอลลาร์

สาเหตุที่การส่งออกในเดือน ก.พ.56 ปรับตัวลดลงเนื่องจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะสหรัฐและญี่ปุ่นซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของไทยอยู่ในภาวะชะลอตัว ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปเองมีแนวโน้มเข่สู่ภาวะถอดอย นอกจากนี้ยังเป็นผลจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและการปรับตัวแข็งค่าของเงินบาทที่ส่งผลกระทบต่อ SMEs เป็นหลัก ส่วนผู้ประกอบการรายใหญ่นั้น คาดว่าได้รับคำสั่งซื้อล่วงหน้าไว้แล้ว

ทั้งนี้ การส่งออกสินค้าในเดือน ก.พ.56 หมวดสินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตรลดลง 13.5% ได้แก่ ข้าว(-20.2%) ยางพารา(-11.8%) อาหารทะเลแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป(ไม่รวมกุ้ง)(-1.5%) กุ้งแช่แข็งและแปรรูป(-22.2%) ผักและผลไม้(-8.1%) ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป(-6.5%) น้ำตาล(-43.3%) ส่วนสินค้าส่งออกที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง(+3.5%)

หมวดสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญลดลง 2.6% ได้แก่ สิ่งทอ(-3.8%) อัญมณีและเครื่องประดับ(-65.3%) ผลิตภัณฑ์ยาง(-3.7%) สิ่งพิมพ์กระดาษและบรรจุภัณฑ์(-5.7%) เครื่องเดินทาง เครื่องหนังและรองเท้า(-2.0%) เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน(-2.6%) ส่วนสินค้าส่งออกที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์(+2%) เครื่องใช้ไฟฟ้า(+5.1%) ยานยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ(+6%) เม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติก(+6.8%) วัสดุก่อสร้าง(+70.6%) และหมวดสินค้าอื่นๆ ลดลง 8.8%

หากพิจารณาการส่งออกเป็นรายตลาด พบว่า การส่งออกลดลงเกือบทุกตลาด ยกเว้นตลาดศักยภาพระดับรอง โดยตลาดหลักลดลง 0.9% ตลาดศักยภาพสูงลดลง 6.8% ขณะที่ตลาดศักยภาพระดับรองเพิ่มขึ้น 1% และตลาดอื่นๆ ลดลง 74.4%

"ยอมรับว่าบาทแข็งค่ามีผลกระทบบางส่วนต่อการส่งออก แต่ก็ยังไม่มากนัก เพราะส่วนใหญ่มี order ล่วงหน้า แต่ยอดส่งออกในระยะใกล้ๆ หลังจากนี้คงจะมีผล" ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าว นอกจากนี้ การส่งออกที่ลดลงในเดือนก.พ.ยังมีผลมาจากการส่งออกที่ลดลงของสินค้าในหมวดเกษตร, เกษตรอุตสาหกรรม เช่น ยางพาราส่งออกลดลงเนื่องจากผลของเศรษฐกิจโลกชะลอตัว, กุ้งแช่แข็งและแปรรูป ส่งออกลดลง เพราะผลผลิตในประเทศลดลง รวมทั้งมาตรการด้านสุขอนามัยของประเทศผู้นำเข้า เป็นต้น

ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจะมีโอกาสให้กระทรวงพาณิชย์จำเป็นต้องปรับเป้าหมายการส่งออกในปีนี้ใหม่จากปัจจุบันที่คาดว่าจะโต 8-9% หรือไม่ เพราะเป้าหมายการส่งออกปีนี้อยู่บนสมมติฐานเงินบาทที่ 30 บาท/ดอลลาร์ แต่ปัจจุบันเงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ 29.53 บาท/ดอลลาร์แล้ว ว่า ถ้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการบริหารจัดการค่าเงินที่เข้มข้นขึ้นก็เชื่อว่าจะไม่ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่ามากไปกว่านี้ และเชื่อว่ารัฐบาลคงให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ในการพิจารณาออกมาตรการใดๆ เพื่อมาใช้บริหารจัดการค่าเงินให้มีเสถียรภาพและไม่กระทบต่อการส่งออก เพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศก็มีส่วนสำคัญที่มาจากรายได้ของภาคการส่งออก

"คิดว่าเวลานี้รัฐบาลจับตาดูอยู่ และพยายามมีมาตรการบริหารเพื่อรักษาเสถียรภาพของเงินบาทไม่ให้กระทบต่อการส่งออก เพราะ GDP ของประเทศก็มาจากภาคการส่งออก เชื่อว่ารัฐบาลจับตาดูอย่างใกล้ชิด และบริหารด้วยความระมัดระวัง" นางวัชรี กล่าว

พร้อมระบุว่า ในช่วงกลางปีจะมีการทบทวนสถานการณ์การส่งออกทั้งปี 56 อีกครั้ง โดยระหว่างนี้จะยังคงเป้าหมายการส่งออกไว้ที่ 8-9% ไว้ก่อน และขอประเมินสถานการณ์การส่งออกเป็นรายประเทศ ทั้งในส่วนของประเทศคู่ค้าและประเทศคู่แข่ง

อย่างไรก็ดี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์จัดทำมาตรการส่งออกเชิงรุก โดยเน้นการดำเนินงานใน 2 ส่วนคือ 1.การเน้นตลาดส่งออกใหม่ และตลาดที่มีศักยภาพ โดยให้เพิ่มส่วนแบ่งตลาดในส่วนนี้ให้มากขึ้น และ 2.การส่งออกในตลาดเดิม แต่มีมาตรการที่เข้มข้นในการรักษาตลาดเดิมไว้ ซึ่งมาตรการต่างๆ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ ได้นำเสนอให้นายกรัฐมนตรีรับทราบแล้ว

ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า รมว.พาณิชย์ ได้มีการหารือร่วมกับภาคเอกชนผู้ส่งออก เพื่อหาแนวทางความร่วมมือที่จะทำให้การส่งออกในปีนี้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือมากกว่านั้น โดยได้มีการตั้งคณะทำงานขึ้น 2 ชุด คือ 1.คณะทำงานติดตามสถานการณ์การส่งออกรายกลุ่ม ซึ่งจะพิจารณาถึงปัญหาและอุปสรรคของการส่งออกในรายสินค้าของแต่ละตลาด และ 2.คณะทำงานติดตามปัญหาและผลักดันการใช้ประโยชน์ใน FTA เพื่อเป็นส่วนช่วยเพิ่มยอดส่งออกให้สูงขึ้น โดยคาดว่าจะมีการประชุมคณะทำงานดังกล่าวนัดแรกวันที่ 9 เม.ย.นี้

"การผลักดันการส่งออกปีนี้ ต้องทำอย่างถึงลูกถึงคนมากขึ้น ต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับภาคเอกชน และร่วมมือกันให้ใกล้ชิดมากขึ้น" ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าว

ส่วนแนวโน้มการส่งออกในเดือนมี.ค.นี้ เชื่อว่าจะดีขึ้นกว่าเดือนก.พ.ที่ผ่านมา เนื่องจากในเดือนมี.ค.คาดว่ายอดส่งออกข้าวจะเพิ่มขึ้นเพราะเป็นการเร่งส่งมอบตามสัญญาที่ทำไว้ รวมทั้งสินค้าเกษตรอื่นๆ เช่น ยางพารา มันสำปะหลัง ก็คาดว่าจะส่งออกได้เพิ่มขึ้นเช่นกัน ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าที่คาดว่าจะส่งออกได้มากขึ้นในช่วงฤดูร้อน เช่น เครื่องปรับอากาศ, พัดลม, ตู้เย็น นอกจากนี้ การส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะพม่าน่าจะทำได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนก่อสร้างสาธารณูปโภค เนื่องจากพม่ากำลังอยู่ระหว่างการเร่งปรับโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศ ซึ่งจำเป็นต้องมีการนำเข้าสินค้าเพิ่มมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ