MOU ยังคงเนื้อหาเดิมที่เป็นกรอบข้อตกลงกว้าง ๆ โดยรัฐบาลไทยและรัฐบาลบังกลาเทศ ตกลงที่จะซื้อขายข้าวนึ่งปริมาณไม่เกิน 1 ล้านตันต่อปี โดยมีเงื่อนไขขึ้นอยู่กับสถานการณ์การผลิตข้าวของแต่ละประเทศ และระดับราคาซื้อขายในตลาดโลก ซึ่งในส่วนของการเจรจาซื้อขายข้าว รัฐบาลไทยจะมอบหมายให้กรมการค้าต่างประเทศเป็นหน่วยงานดำเนินการ ในขณะที่รัฐบาลบังกลาเทศจะมอบหมายให้หน่วยงานอาหารภายใต้กระทรวงอาหารเป็นหน่วยงานดำเนินการ
ในแต่ละปีบังกลาเทศนำเข้าข้าวจากไทยเฉลี่ย ปีละประมาณ 178,000 ตัน ส่วนใหญ่เป็นข้าวนึ่ง ข้าวขาว 100% และข้าวหอมมะลิไทย และเมื่อปี 2554 กระทรวงพาณิชย์โดยกรมการค้าต่างประเทศได้ทำสัญญาซื้อขายข้าวนึ่งแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) กับรัฐบาลบังกลาเทศ ปริมาณ 200,000 ตัน ทั้งนี้ในปัจจุบันปริมาณผลผลิตข้าวของบังกลาเทศอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปริมาณความต้องการบริโภคข้าว โดยจะนำเข้าข้าวเฉพาะในบางปีที่ผลผลิตข้าวในประเทศประสบความเสียหายจากภัยธรรมชาติ หรือเป็นการนำเข้าในลักษณะการสำรองข้าวเพื่อรักษาระดับราคาข้าวในตลาดภายในประเทศ
อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลบังกลาเทศเสนอขอให้มีการต่ออายุบันทึกความเข้าใจฯ ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลบังกลาเทศออกไปอีกเป็นระยะเวลา 3 ปี จึงมีแนวโน้มว่าบังกลาเทศอาจนำเข้าข้าวจากไทยและต้องการให้ไทยเป็นแหล่งนำเข้าข้าวเพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารในระยะยาว