ทั้งนี้ การประเมินดังกล่าวอยู่บนสมมติฐานว่าปัจจัยอื่นๆ ที่กระทบการส่งออก เช่น ความต้องการสินค้าในตลาดโลกไม่มีการเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ดี บางอุตสาหกรรมอาจได้รับผลกระทบมาก ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มี profit margin ต่ำ ใช้วัตถุดิบจากในประเทศเป็นสัดส่วนสูง และพึ่งพาการส่งออกสูง เช่น อุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำ อุตสาหกรรมแปรรูปผักและผลไม้ รวมถึงผู้ส่งออกข้าว และยางพารา เป็นต้น
ขณะที่การส่งออกของไทยในเดือนก.พ.หดตัวลง 5.8% เป็นผลมาจากความต้องการสินค้าในตลาดโลกยังมีค่อนข้างน้อย ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการส่งออกของหลายประเทศในเอเชีย เช่น สิงคโปร์ ไต้หวัน และเกาหลีใต้ ที่หดตัวลงในเดือนกุมภาพันธ์ ในขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนของประเทศเหล่านี้ไม่ได้แข็งค่าขึ้นเหมือนค่าเงินบาท ทั้งนี้ เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวได้ช้าและยังมีความเสี่ยงของวิกฤติหนี้สาธารณะในยุโรปหลงเหลืออยู่ โดยต้องจับตามองการใช้จ่ายในประเทศ การใช้จ่ายในประเทศเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจในปีนี้
สำหรับทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ คาดว่าจะคงที่ที่ระดับ 2.75% เนื่องจากความเสี่ยงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและความเสี่ยงต่อเงินเฟ้อมีน้อย แม้ว่าการส่งออกจะฟื้นตัวช้า แต่การใช้จ่ายในประเทศโดยเฉพาะการบริโภคภาคครัวเรือนสามารถขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการขยายตัวดังกล่าวไม่ได้ทำให้เงินเฟ้อมีการเร่งตัวขึ้น ดังนั้นจึงยังไม่ความจำเป็นในการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในขณะนี้
ส่วนเงินบาทนั้นมีแนวโน้มแข็งค่ากว่าที่คาดไว้เดิม โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเดือนมี.ค.มาอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 29.50 บาท/ดอลลาร์ฯ และมีแนวโน้มที่จะแข็งค่าขึ้นได้อีก เนื่องจากนักลงทุนมีความมั่นใจในเศรษฐกิจของเอเชีย โดยเฉพาะประเทศไทย ทั้งนี้คาดว่าในปีนี้เงินบาทแกว่งในช่วง 28.50-29.50 บาท/ดอลลาร์ฯ
โดยต้องจับตาเงินทุนเคลื่อนย้ายและนโยบายของ ธปท. หลังจากที่ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นคนใหม่เข้ารับตำแหน่งในเดือนมี.ค.นี้ และประกาศว่าจะผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นเป็น 2% (อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ -0.7% ในเดือนก.พ.)ตามแผนที่วางไว้ ในเบื้องต้น คงต้องติดตามว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นจะใช้วิธีการเพิ่มปริมาณเงินหรือไม่ ส่วนในประเทศไทย คงต้องดูว่านโยบายต่างๆ ของ ธปท. เช่น การส่งเสริมให้นำเงินไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้นจะช่วยสร้างสมดุลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายและลดผลกระทบต่อค่าเงินบาทได้หรือไม่
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้ คาดว่าเฉลี่ยอยู่ที่ราว 3.0% ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 1.8% ซึ่งความเสี่ยงต่อเงินเฟ้อมีค่อนข้างน้อย เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในภาวะชะลอตัวทำให้ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัว ประกอบกับการแข็งค่าของเงินบาท ทำให้ต้นทุนราคาพลังงานไม่ได้เร่งตัวขึ้น
โดยราคาพลังงานในประเทศขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาล ซึ่งต้องติดตามนโยบายที่ได้มีการประกาศก่อนหน้านี้คือ การทยอยปรับขึ้นราคาแก๊ส LPG และ NGV ทั้งนี้ ผลกระทบจากการทยอยปรับขึ้นราคาแก๊สต่อเงินเฟ้อทั่วไปมีไม่มากนัก ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มทรงตัว และยังอยู่ในกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ 0.5%-3.0%