สำหรับภาวะเศรษฐกิจเดือน ก.พ.ชะลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า เนื่องจากมีจำนวนวันทำการน้อยกว่า และปัญหาวัตถุดิบในการผลิต ซึ่งเป็นผลชั่วคราวทำให้เศรษฐกิจเดือนนี้ชะลอลงบ้าง ส่งผลให้การส่งออกหดตัว 4.6% จากระยะเดียวกันของปีก่อน และหดตัว 3.4% จากเดือนก่อน โดยมีมูลค่า 17,766 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเฉพาะการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่หดตัว 1.2% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน และหากปรับฤดูกาลแล้วการผลิตลดลงจากเดือนก่อน 1.4% โดยหมวดอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ ซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกน้อยกว่า 30% ของการผลิตรวม หดตัว 5.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการผลิตเบียร์และปิโตรเลียม ที่มีการสต็อกอยู่ในระดับสูง และหากปรับฤดูกาลแล้ว การผลิตลดลงจากเดือนก่อน 0.2% จากการผลิตเบียร์ที่ชะลอลงหลังจากเร่งตัวไปมากในเดือนก่อนหน้า
นอกจากนั้น อุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อส่งออก ซึ่งมีสัดส่วนส่งออกมากกว่า 60% ของการผลิตรวม หดตัวลง 8.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามกการผลิตเครื่องนุ่งห่มที่ลดลงจากการย้ายฐานผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน และ HDD ที่ลดลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในยุโรป และหากปรับฤดูกาลแล้ว การผลิตในส่วนนี้ลดลงจากเดือนก่อน 0.3% ตามการผลิตอาหารแปรรูปแช่แข็งที่ขาดแคลนวัตถุดิบเป็นสำคัญ
ขณะที่ หมวดอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อจำหน่ายทั้งในประเทศและส่งออก ซึ่งมีสัดส่วน 30% ของการผลิตรวม ขยายตัว 20.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการผลิตรถยนต์ที่ขยายตัวสูง แต่หากปรับฤดูกาลแล้ว การผลิตลดลงจากเดือนก่อน 2.2% ตามปริมาณการผลิตรถยนต์ลดลงตามวันทำการที่น้อยลง แต่การผลิตต่อวันในเดือนนี้ยังคงใกล้เคียงกับเดือนก่อน ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังผลิตรวมของภาคอุตสาหกรรมลดลงจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ 62.9% และเมื่อปรับฤดูกาลแล้วอยู่ที่ 64.8% ลดลงจากเดือนก่อนที่อยู่ในระดับ 66.6%
ขณะเดียวกัน รายได้ภาคเกษตรยังหดตัว 4.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการลดลงของทั้งราคาและผลผลิตสินค้าเกษตร หากเทียบกับเดือนก่อน รายได้ภาคเกษตรหดตัว 0.5% จากด้านราคา โดยเฉพาะยางพารา เนื่องจากจีนชะลอคำสั่งซื้อ หลังเร่งนำเข้าสะสมในสต็อกช่วงเทศกาลตรุษจีน
ส่วนการนำเข้าในเดือน ก.พ.มีมูลค่า 17,191 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 3.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หากไม่นับรวมการนำเข้าทองคำ การนำเข้าจะหดตัวราว 7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และหดตัว 7.2% จากเดือนก่อนในทุกหมวดสินค้าโดยเฉพาะการนำเข้าเชื้อเพลิงและสินค้าทุน ทั้งนี้ เดือน ก.พ.การท่องเที่ยวยังขยายตัวต่อเนื่อง มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางมาเที่ยวในไทย 2.3 ล้านคน เพิ่มขึ้น 26.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะจากจีน มาเลเซีย และรัสเซัย ส่งผลให้อัตรากรเข้าพักโรงแรมอยู่ที่ 74.2% สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2540 และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ 69.2%
ส่วนการบริโภคอุปโภคภาคเอกชนชะลอลงสะท้อนได้จากดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัว 3.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หากเทียบกับเดือนก่อน หดตัว 0.5% ตามการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคที่ลดลง แต่ในระยะต่อไปคาดว่าหารอุปโภคบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวตามแนวโน้มปกติจากรายได้และการจ้างงานของครัวเรือนที่อยู่ในเกณฑ์ดี และได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการเพิ่มรายได้จากภาครัฐ เช่น การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ โครงการรับจำนำข้าวที่ช่วยให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อ รวมทั้งภาวะการเงินยังเอื้อต่อการใช้จ่าย
สำหรับการลงทุนภาคเอกชน ขยายตัวชะลอลงสะท้อนจากดัชนีการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัว 9.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานในปีก่อนต่ำ เพราะได้รับผลกระทบจากอุทกภัย และปรับตัวหดตัว 2.4% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนตามการลงทุนทั้งในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ รวมถึงหมวดก่อสร้างลดลง มีการนำเข้าลดลง หลังจกาเร่งตัวไปมากแล้วในช่วงก่อนหน้า
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มในระยะต่อไปภาคเอกชนจะทยอยลงทุนเพื่อปรับโครงสร้างภาคการผลิตให้มีประสิทธิภาพ และทดแทนแรงงานที่ขาดแคลน รวมทั้งเพื่อรองรับอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศจากการรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) ประกอบกับ ธปท.ยังได้ติดตามโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล 2 ล้านล้านบาท ที่ต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการ 7 ปี โดยเป็นลักษณะการทยอยกู้เพื่อลงทุน ซึ่งส่งผลให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น แต่หากเป็นการลงทุนในโครงการที่เพิ่มศักยภาพของประเทศ มีความคุ้มค่าต่อเศรษฐกิจ แม้จะเป็นหนี้ แต่ในระยะต่อไปจะช่วยเพิ่มศักยภาพและการขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ รวมถึงเพิ่มความสามารถในการชำระหนี้ รวมถึงการจัดเก็บรายได้ภาษีเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศในระยะต้อไป