ในวันที่ 5 เมษายน คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก 300 เมกะวัตต์ เป็น 26,600 เมกะวัตต์ อุณหภูมิที่ประมาณ 40 องศาเซลเซียส อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบทำให้ไฟฟ้าดับหรือขาด เนื่องจากขณะนี้ภาคเอกชนในส่วนภาคผู้ผลิตไฟฟ้าขานรับจะผลิตไฟฟ้าเพิ่ม 200 เมกะวัตต์ ขณะที่สมาชิกสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย( ส.อ.ท.) จะลดการใช้ไฟฟ้าอีกประมาณ 1,000 เมกะวัตต์ และคาดหวังภาคประชนจะลดการใช้ไฟฟ้าเพิ่มเติม ทำให้สำรองไฟฟ้าฉุกเฉินพร้อมใช้เพิ่มขึ้นเป็นไม่ต่ำกว่า 1,600 เมกะวัตต์ จากเดิมที่หากไม่ทำอะไรเลย ไม่มีความร่วมมือใดๆ สำรองไฟฟ้าจะลดต่ำเหลือเพียง 500 เมกะวัตต์ จนเป็นความเสี่ยงเรื่องไฟดับหรือขาด
“อากาศที่ร้อนจัดทำให้พีคเกิดเร็วเกินคาด จากเดิมที่คาดว่าอาจจะเป็นปลายเดือนเมษายนถึงต้นเดือนพฤษภาคม โดยวันที่ 4 เมษายน คาดว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าอาจเพิ่มเป็น 26,800 เมกะวัตต์ แต่เนื่องจากก๊าซพม่ายังส่งอยู่จึงไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด โดยพีคไฟฟ้าปีนี้ยังคาดการณ์ไว้ที่เดิมที่ 27,000 เมกะวัตต์" นายสุทัศน์ กล่าว
ทั้งนี้ ในวันที่ 4 เมษายน ทางรัฐบาล โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานรณรงค์ ประหยัดพลังงาน “รวมใจคนไทยสู้วิกฤติไฟฟ้า" ที่ทำเนียบรัฐบาล ในช่วงบ่าย รณรงค์ให้ประชาชนร่วมลดไฟฟ้า ปิด-ปรับ-ปลด โดยปิดไฟ 1 ดวง ปลดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ใช้ ปรับอุณภูมิเครื่องปรับอากาศเพิ่มขึ้น 1 องศาเซลเซียส เพื่อร่วมลดใช้พลังงานตั้งแต่เวลา 13.00-15.00 น. เพราะปกติแล้วพีคหรือความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดจะเกิดเวลาประมาณ 14.00 น. ในขณะนี้มีบริษัทขนาดใหญ่ร่วมลดการใช้ไฟฟ้ามีหลายราย เช่น โตโยต้า (300 เมกะวัตต์) เอสซีจี (100 เมกะวัตต์) ไออาร์พีซี (40 เมกะวัตต์)