โพลเผยคนอีสานหนุนออกพ.ร.บ.กู้เงินแทนการใช้งบฯ แม้กังวลเป็นหนี้มหาศาล

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 1, 2013 17:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือ อีสานโพล เผยผลสำรวจเรื่อง "พ.ร.บ. กู้เงิน 2.2 ล้านล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน" โดยผลสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างชาวอีสานส่วนใหญ่ทราบข่าวเกี่ยวกับ พ.ร.บ. กู้เงินดังกล่าว แม้จะวิตกกังวลในเรื่องการทุจริตและความล้มเหลว แต่ก็เห็นว่า พ.ร.บ. กู้เงิน น่าจะดีกว่าการใช้เงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี

จากผลสำรวจถึงการสนับสนุนการออก พ.ร.บ. กู้เงิน หรือเลือกเบิกเงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 58.4 สนับสนุนการออก พ.ร.บ.กู้เงิน โดยส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่า มีขั้นตอนที่ชัดเจนผ่านรัฐสภาและสามารถตรวจสอบได้ งบประมาณปกติไม่เพียงพอ เงินจะถูกนำไปใช้พัฒนาระบบการคมนาคมที่สะดวกรวดเร็ว เป็นต้น อีกร้อยละ 41.6 สนับสนุนการเบิกใช้เงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี โดยให้เหตุผลเช่น ไม่ต้องการเป็นหนี้ระยะยาว ตรวจสอบได้ดีกว่า เชื่อว่า พ.ร.บ.เงินกู้ ไม่โปร่งใส รัฐบาลมีงบประมาณเพียงพอพัฒนาอยู่แล้ว เป็นต้น

เมื่อสอบถามต่อถึงความกังวลว่า การกู้ดังกล่าว อาจต้องชำระเงินต้นและดอกเบี้ย รวมเป็นเงินกว่า 5 ล้านล้านบาท และใช้เวลาคืนเงินประมาณ 50 ปี กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 52.2 ตอบว่า รู้สึกกังวลเล็กน้อย รองลงมา ร้อยละ 27.0 ตอบว่า รู้สึกกังวลอย่างมาก และอีกร้อละ 20.8 ตอบว่าไม่รู้สึกกังวล

ต่อข้อถามว่า ผู้ใดที่น่าจะได้รับประโยชน์สูงสุด จากการออก พ.ร.บ.กู้เงิน 2.2 ล้านล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 50.8 ตอบว่า เป็นกลุ่มนักการเมืองฝ่ายรัฐบาล รองลงมาร้อยละ 32.9 ตอบว่าเป็นกลุ่มประชาชน อีกร้อยละ 14.9 ตอบว่า เป็นกลุ่มธุรกิจก่อสร้าง และร้อยละ 1.4 ตอบว่าไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ

นอกจากนี้เมื่อถามกลุ่มตัวอย่างว่า มีความวิตกกังวลหรือไม่ ว่าโครงการนี้จะล้มเหลว เช่นเดียวกับโครงการอื่นๆ เช่น แอร์พอร์ทลิ้งค์ โฮปเวลล์ หรือคลองด่าน ส่วนใหญ่ร้อยละ 51.7 ตอบว่า รู้สึกกังวลเล็กน้อย รองลงมา ร้อยละ 25.8 ตอบว่า รู้สึกกังวลอย่างมาก และอีกร้อละ 22.5 ตอบว่าไม่รู้สึกกังวล

เมื่อถามว่า การใช้งบ 2.2 ล้านล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศนี้ คาดว่าจะมีการรั่วไหลของเงิน ประมาณกี่เปอร์เซ็นต์ ร้อยละ 30.3 คาดว่าจะมีเงินรั่วไหลไม่เกิน 10% รองลงมาร้อยละ 27.9 คาดว่าจะมีเงินรั่วไหล มากกว่า 30% ตามมาด้วยร้อยละ 21.7 ตอบว่าจะมีเงินรั่วไหลประมาณ 10-20% และอีกร้อยละ 16.0 คาดว่าจะมีเงินรั่วไหล 20-30% มีเพียงร้อยละ 4.1 ของกลุ่มตัวอย่าง ที่เชื่อว่าจะไม่มีการรั่วไหลของงบประมาณ

นอกจากนี้ อีสานโพลได้ถามความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างว่า เงินกู้จำนวน 2.2 ล้านล้านบาท ควรจะนำไปพัฒนาหรือแก้ปัญหาใดมากที่สุด พบว่า ร้อยละ 32.5 ต้องการให้นำไปแก้ไขปัญหาความเป็นอยู่ของประชาชน เช่น ปัญหาความยากจนและค่าครองชีพ จัดสรรที่อยู่อาศัย สร้างอาชีพให้ประชาชน รองลงมา ร้อยละ 23.7 ต้องการให้นำไปแก้ไขปัญหาในภาคเกษตร เช่น ราคาสินค้าเกษตร การจัดการภัยธรรมชาติที่มีผลกระทบต่อผลผลิต ตามมาด้วยด้านการศึกษา ร้อยละ 13.9 และด้านคมนาคม ร้อยละ 13.3 นอกจากนี้ยังมีข้อเสนออื่นๆ เช่น นำไปพัฒนาด้านสาธารณสุข ปัญหาสังคม เป็นต้น

"จากผลสำรวจจะเห็นว่า แม้การออก พ.ร.บ.กู้เงินจำนวนมหาศาล จะทำให้ชาวอีสานรู้สึกกังวล แต่ก็ยังมีความหวังว่า เงินดังกล่าวจะถูกนำมาพัฒนาประเทศให้เกิดประโยชน์ อย่างไรก็ตาม การสำรวจกับพบว่าส่วนใหญ่คนอีสานอยากให้รัฐบาลนำเงินจำนวน 2.2 ล้านล้านบาท มาแก้ปัญหาด้านรายได้และค่าครองชีพของประชาชน และด้านการเกษตร ขณะที่ด้านคมนาคมคนอีสานยังไม่ให้ความสำคัญมากนัก

นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างชาวอีสานยังคาดว่าเงินงบประมาณจะมีการรั่วไหล โดยมีเกือบ 2 ใน 3 ของกลุ่มตัวอย่างเชื่อว่าจะมีเงินรั่วไหลมากกว่า 10% (มากกว่า 2.2 แสนล้านบาท) นอกจากนี้มากกว่าครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างเชื่อว่า กลุ่มที่จะได้รับผลประโยชน์จากการออก พ.ร.บ.นี้ คือนักการเมืองฝ่ายรัฐบาล มีเพียง 1 ใน 3 ที่เชื่อว่าผู้ได้รับผลประโยชน์มากที่สุดคือประชาชน ผลสำรวจดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า แม้คนอีสานส่วนใหญ่จะสนับสนุน พ.ร.บ. กู้เงิน 2.2 ล้านล้านบาท แทนการใช้เงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี แต่ก็ไม่ได้เชื่อว่าโครงการดังกล่าวจะไม่มีการทุจริต และอาจนำไปสู่ความล้มเหลวของโครงการได้ ดังนั้นรัฐบาลควรรับฟังคำท้วงติงจากทุกภาคส่วนเพื่อนำมาปรับปรุง พ.ร.บ. กู้เงินดังกล่าว และสร้างความเข้าใจกับประชาชนให้มากขึ้นเพื่อลดข้อกังวลต่างๆ" อีกสานโพล ระบุ

อีสานโพล ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกี่ยวกับการออก พ.ร.บ.กู้เงิน จำนวน 2.2 ล้านล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยทำการสำรวจระหว่างวันที่ 29-31 มีนาคม 2556 จากกลุ่มตัวอย่าง 1,207 ราย ในเขตพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ หนองคาย ชัยภูมิ เลย อุบลราชธานี อุดรธานี นครพนม หนองบัวลำภู สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ สกลนคร มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ และบึงกาฬ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ