สถาบันอาหาร เผยดัชนีเชื่อมั่นอุตฯอาหารไทยก.พ.อยู่ในเกณฑ์ดี แนะดูแลบาทให้มีเสถียรภาพ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 2, 2013 12:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาวะอุตสาหกรรมอาหารไทย หรือ CEOs Food Index โดยรวมเดือนก.พ. 56 อยู่ที่ระดับ 50.5 แสดงถึงผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นในทางที่ดีขึ้นต่อภาวะโดยรวมของภาคธุรกิจ โดยระดับความเชื่อมั่นที่อยู่เหนือระดับ 50.0 ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อ ยอดขายปริมาณผลผลิต และผลประกอบการของภาคธุรกิจ ยกเว้น ต้นทุนวัตถุดิบที่มีระดับความเชื่อมั่นที่แย่ลง ส่วนปริมาณการจ้างงานระดับความเชื่อมั่นยังคงทรงตัว (ระดับ 50.0)

จากผลสำรวจพบว่ายอดคำสั่งซื้อและยอดขายโดยรวมได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น 34.2 และ 35.4 ซึ่งสะท้อนภาพกลุ่มสินค้าที่สำคัญต่างได้รับผลดีทั้งจากปัจจัยภายในประเทศและต่างประเทศ ได้แก่ สัตว์น้ำ ผัก/ผลไม้เครื่องปรุงรส และอาหารอื่นๆ (น้ำตาล น้ำมันพืช และผลิตภัณฑ์นม) ให้มีระดับความเชื่อมั่นที่อยู่ในเกณฑ์ที่ดี ในขณะที่กลุ่มสินค้าข้าวและแป้งข้าว สัตว์น้ำ และอาหารอื่นๆ (แป้งมันสำปะหลัง ขนมปัง/อบกรอบ และผลิตภัณฑ์จากข้าว) ต่างได้รับผลกระทบในเชิงลบจนทำให้มีระดับความเชื่อมั่นที่อยู่ในเกณฑ์ที่แย่ สำหรับความกังวลของภาคธุรกิจที่มีต่อระดับความเชื่อมั่นด้านต้นทุนวัตถุดิบยังคงมีต่อเนื่องทั้งจากปริมาณและระดับราคา ค่าจ้างแรงงาน และอัตราค่าเชื้อเพลิงในอุตสาหกรรมที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น ยิ่งทำให้ภาคธุรกิจมีภาระต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นและต้องรับมือ โดยในปัจจุบันผู้ประกอบการร้อยละ 10.1 ได้ปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นแล้ว ส่วนผู้ประกอบการอีกร้อยละ 87.3 ยังคงตรึงราคาสินค้าที่ระดับเดิม

สำหรับแนวโน้มอีก 3 เดือนข้างหน้า(มี.ค.- พ.ค.56) ดัชนีความเชื่อมั่นภาวะอุตสาหกรรมอาหารโดยรวมอยู่ที่ระดับ 55.7 สะท้อนภาพว่าผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นว่า ธุรกิจโดยรวมจะอยู่ในทิศทางที่ดีขึ้น โดยองค์ประกอบดัชนีส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นสูงกว่าระดับ 50.0 โดยเฉพาะยอดคำสั่งซื้อโดยรวม และยอดขายโดยรวม ที่มีผู้ตอบแบบสำรวจร้อยละ 62.0 และ 59.5 มีความเห็นว่าจะเพิ่มขึ้น ในขณะที่ต้นทุนวัตถุดิบมีผู้ตอบแบบสำรวจร้อยละ 65.8 เห็นว่าจะปรับเพิ่มสูงขึ้นอีก ดังนั้น ในช่วงระยะเวลา 3 เดือนข้างหน้าผู้ประกอบการร้อยละ 11.4 อาจปรับขึ้นราคาสินค้าเพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริงโดยมีผู้ประกอบการร้อยละ 87.3 คาดว่าจะยังคงตรึงราคาเดิมไว้ เมื่อจำแนกตามกลุ่มอุตสาหกรรม ในกลุ่มสินค้าที่สำรวจส่วนใหญ่ ดัชนีความเชื่อมั่นมีค่าอยู่เหนือระดับ 50.0 แสดงว่าผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นว่าธุรกิจจะดีขึ้น ยกเว้น กลุ่มข้าว/แป้งข้าวที่มีความเชื่อมั่นว่าธุรกิจจะแย่ลง เมื่อจำแนกตามขนาดธุรกิจ ในกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่และขนาดกลางมีค่าดัชนีอยู่เหนือระดับ 50.0 แสดงถึงความเชื่อมั่นว่าธุรกิจจะดีขึ้น และเมื่อจำแนกตามการส่งออกในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารที่เน้นตลาดภายในประเทศและตลาดต่าง ประเทศเป็นหลัก มีค่าดัชนี 54.7 และ 56.4 ตามลำดับ แสดงว่าผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นว่าภาวะอุตสาหกรรมในอีก 3 เดือนข้างหน้าจะมีทิศทางที่ดี

ทั้งนี้เห็นว่าปัญหาเร่งด่วนที่ต้องการการแก้ไข มี 3 ประเด็นใหญ่ๆ คือ 1) นโยบายเร่งด่วนในการดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพเพื่อลดผลกระทบที่รุนแรงต่อผู้ส่งออก 2) การขาดแคลนแรงงานในกลุ่มสินค้าสัตว์น้ำ เนื้อสัตว์ เครื่องปรุงรส และอาหารอื่นๆ (น้ำมันพืช) และ3) ประสิทธิภาพของแรงงานต่างด้าวที่ต้องปรับปรุง เมื่อเทียบกับค่าจ้างแรงงานที่ได้ และภาครัฐควรมีมาตรการช่วยเหลือการขาดแคลนน้ำเพื่อเพาะปลูก และป้องกันมิให้ระดับราคาวัตถุดิบเพิ่มสูงมากในตลาด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ