"คณะกรรมการฯ จึงมีมติ 5 ต่อ 1 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.75 ต่อปี โดยกรรมการ 1 ท่านเห็นสมควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ลงร้อยละ 0.25 ต่อปี ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการของเศรษฐกิจไทยและความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงินอย่างใกล้ชิด และพร้อมที่จะปรับนโยบายการเงินตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง"นายไพบูลย์ กล่าว
อนึ่ง ในการประชุมครั้งนี้กรรมการ 1 ท่าน ติดภารกิจในต่างประเทศจึงไม่สามารถเข้าร่วมประชุม
นายไพบูลย์ กล่าวว่า ที่ประชุม กนง.ได้พิจารณาภาวะเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ รวมทั้งแนวโน้มในระยะต่อไป เพื่อกำหนดแนวนโยบายการเงินที่เหมาะสม โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้ เศรษฐกิจโลกยังคงฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นบ้างนับจากการประชุมครั้งก่อนจากวิกฤตเศรษฐกิจการเงินในกลุ่มประเทศยูโร ซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจยูโรหดตัวมากกว่าที่คาดไว้เดิม
ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน แต่ปัญหาทางการคลังยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ถ่วงการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนเศรษฐกิจญี่ปุ่นมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น จากนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจทางการเงินและการคลัง เศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจเอเชียยังขยายตัวดีต่อเนื่อง จากอุปสงค์ในประเทศเป็นสำคัญ ในขณะที่แนวโน้มการส่งออกดีขึ้นเล็กน้อย
สำหรับเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/56 คาดว่าจะขยายตัวลดลงเข้าสู่แนวโน้มปกติ หลังจากที่เร่งขึ้นมากในช่วงก่อนหน้า คาดว่าในระยะต่อไปอุปสงค์ในประเทศจะยังเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทย มีปัจจัยสนับสนุนจากรายได้ภาคครัวเรือนและการจ้างงานที่อยู่ในระดับสูง ภาวะการเงินและสินเชื่อที่ผ่อนคลาย และแรงกระตุ้นทางการคลังที่จะทยอยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนในโครงการบริหารจัดการน้ำและโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่คาดว่าจะเริ่มในช่วงกลางปีถึงปลายปี และมีผลกระตุ้นการลงทุนต่อเนื่องของภาคเอกชน
ขณะที่การส่งออกคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นช้าๆ ตามภาวะเศรษฐกิจโลก สำหรับอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย แต่แรงกดดันเงินเฟ้อที่อาจเกิดจากข้อจำกัดด้านอุปทานและต้นทุนแรงงานที่สูงขึ้นยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม
นายไพบูลย์ กล่าวว่า กนง.ยังเฝ้าติดตามการขยายตัวของสินเชื่อภาคครัวเรือนที่เกิดขึ้นค่อนข้างข้างเร็ว รวมถึงภาระหนี้สิน และภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่มีการซื้อขายมาก โดยเฉพาะในบางพื้นที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดร็ว รวมทั้งตลาดหุ้นที่ปรับตัวขึ้นไปสูงในช่วงก่อนหน้านี้ พร้อมกันนั้น กนง.ยังติดตามปัจจัยแวดล้อมที่อาจเพิ่มความเสี่ยงภาวะฟองสบู่ในอนาคต เช่น การขยายตัวของสินเชื่อ ภาวะการเงินที่มีสภาพคล่องในระบบค่อนข้างสูง ขณะที่อัตราดอกเบี้ยต่ำ ทำให้คนหันไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงเพื่อให้ได้ผลตอบทนที่สูงขึ้น เหล่านี้เป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้ราคาสินทรัพย์สูงขึ้นได้ในอนาคต
ส่วนกรณีที่ตั้งข้อสังเกตว่าดอกเบี้ยต่ำทำให้เงินทุนเข้ามามากนั้น เท่าที่ผ่านมาอัตราแลกเปลี่ยนมีแนวโน้มแข็งค่ามาโดยตลอด รวมถึงแนวโน้มการส่งออกก็ขยายตัวต่อเนื่องเช่นกัน แสดงให้เห็นว่าความสามารถและศักยภาพของผู้ส่งออกไทยยังสามารถปรับตัวตี แม้บางช่วงปี 51-52 จะประสบวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าลง การส่งออกก็ตกลงไปด้ย เพราะความต้องการซื้อสินค้าของประเทศคู่ค้าลดลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ดังนั้น ปัจจัยที่มีผลต่อการส่งออกคือความต้องการของประเทศคู่ค้ามากมกว่าค่าเงิน
"สภาพคล่องที่สูงขึ้น กับสินเชื่อที่ขยายตัวสูง มาจากนโยบายการเงินผ่อนปรนและการขยายตัวของเศรษฐกิจ แต่ก็ยังมีจุดเปราะบางที่ต้องระมัดระวัง"นายไพบูลย์ กล่าว