(เพิ่มเติม) ธปท.รับเข้าดูแลบาทหลังแข็งค่าเร็วเกิน-ย้ำไม่มีแผนคุมเงินทุนเคลื่อนย้าย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 9, 2013 13:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า เงินบาทวันนี้แข็งค่าเร็วเกินไป เนื่องจากค่าเงินเยนอ่อนค่าเร็วมาก หลังธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ออกมาตรการผ่อนคลายมากกว่าคาด และส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากนักลงทุนต่างชาติโยกเข้าลงทุนในกองทุน BTSGIS โดยค่าเงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบดอลลาร์ 1.4% จากเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา และแข็งค่า 4% เมื่อเทียบกับค่าเงินเยน ซึ่ง ธปท.มองว่าเงินเยนที่อ่อนค่าน่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยมากกว่าส่งผลเสีย

อย่างไรก็ตาม ธปท.ได้ใช้เครื่องมือที่มีอยู่เข้าไปดูแลเงินบาทหลังแข็งค่าเร็วเกินไป และยังไม่มีแผนใช้มาตรการควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้าย เพียงแต่มีการติดตามอย่างใกล้ชิด

ผู้ว่ากร ธปท.กล่าวยอมรับว่า การเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาทวันนี้เร็วเกินไป เมื่อเทียบกับสิ้นวันทำการเมื่อวันศุกร์ที่ 5 เม.ย.ถึงเวลา 10.30 น.ของวันนี้ เงินบาทแข็งค่าขึ้น 1.4% และเทียบกับค่าเงินเยนจะแข็งค่ามากกว่า 4% ซึ่งจากการติดตามการซื้อขายเงินตราต่างประเทศ พบว่า มีการซื้อขายมากกว่าปกติ โดยมีการขายสินทรัพย์เงินเยนเป็นสาเหตุสำคัญ หลังจากธนาคารกลางญี่ปุ่น(BOJ)ออกมาตรการผ่อนคลายทางการเงินมากกว่าที่ตลาดคาด

ประกอบกับ ช่วงสัปดาห์นี้อาจจะมีการหยุดทำการมาก ทำให้ปริมาณการซื้อเงินตราต่างประเทศเบาบาง ส่งผลให้มีการเคลื่อนไหวของเงินบาทรวดเร็วผิดปกติจนน่าเป็นห่วง ดังนั้น ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรจะระมัดระวัง นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่นักลงทุนต่างประเทศบางส่วนขายหุ้นเพื่อโยกเงินไปลงทุนในกองทุนสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์(BTS หรือ BTSGIF) และมีการนำเงินจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในกองทุนดังกล่าว ซึ่งเป็นผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นด้วย ขณะที่ ธปท.ยังคงติดตามการเคลื่อนไหวของตลาดการเงินอย่างใกล้ชิดต่อไป

ทั้งนี้ นายประสาร ยอมรับว่า ธปท.เข้าดูแลค่าเงินบาท แต่ไม่ใช่การแทรกแซงด้วยการซื้อดอลลาร์อย่างเดียว เนื่องจาก ธปท.จะมีชุดเครื่องมือในการดูแลเป็นขั้นตอน โดยขั้นแรกใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบยืดหยุ่น ซึ่งที่ผ่านมามีการทำงานตามศักยภาพ ส่วนชั้นที่ 2 คือ พยายามดูแลรักษาดูแลการเคลื่อนย้ายเงินทุนให้เป็นไปตามธรรมชาติ และชั้นที่ 3 เป็นการเข้าซื้อเงินตราต่างประเทศหากเห็นความเคลื่อนไหวของค่าเงินผิดไปจากพื้นฐานเศรษฐกิจ ก็พร้อมที่จะนำมาใช้

ส่วนชั้นที่ 4 คือการกำกับดูแลการเคลื่อนย้ายเงินทุนในรูปแบบต่างๆ แต่ในขณะนี้ยังไม่เห็นความจำเป็นต้องใช้มาตรการดังกล่าว เพราะอาจจะมีผลข้างเคียง

"ขณะนี้แบงก์ชาติจึงยังใช้มาตรการที่เป็นไปตามธรรมชาติ...ขณะนี้ยังใช้มาตรการติดตามอย่างใกล้ชิด ช่วงสัปดาห์นี้เป็นช่วงวันหยุดยาวทำให้ปริมาณการซื้อเงินตราต่างประเทศเบาบาง คงต้องรอดูหลังสงกรานต์อีกที"นายประสาร กล่าว

แต่การที่เงินบทแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยนมองว่าจะเอื้อต่อเศรษฐกิจไทยมากกว่าผลเสีย เพราะจากผลศึกษาโครงสร้างเศรษฐกิจไทยและญี่ปุ่นมีบทบาทในลักษณะในการเป็นคู่ค้ามากกว่าคู่แข่ง โดยอุตสาหกรรมไทยอยู่ในห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวข้องกับญี่ปุ่นทั้งในแง่ของการนำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่น เช่น เครื่องจักร วัตถุดิบ อะไหล่ พลาสติก เคมีภัณฑ์ คิดเป็น 60-70% ดังนั้น เมื่อเงินเยนอ่อนค่า ภาคอุตสาหกรรมไทยสามารถซื้อวัตถุดิบได้ในราคาถูกลง ถือเป็นการได้เปรียบเชิงต้นทุน นอกจากนี้การส่งออกไปญี่ปุ่นส่วนใหญ่เป็นสินค้าจำเป็น จึงถือเป็นการเอื้อประโยชน์มากกว่า

นอกจากนั้น ทั้งญี่ปุ่นและสหรัฐซึ่งถือเป็นประเทศเศรษกิจสำคัญที่พยายามแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่ชะงักงัน หากสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย และการที่ญี่ปุ่นได้ออกมาตรการที่ถือเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่ โดยดำเนินนโยบายใน 3 ด้านพร้อมกัน คือ นโยบายการเงิน นโยบายการคลัง และการปฏิรูปเศรษฐกิจที่แท้จริง หากดำเนินการทั้ง 3 ด้านได้ผล ก็จะมีผลอย่างยั่งยืน และมีผลต่อพื้นฐานทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นมากขึ้น

สำหรับสถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลี อาจจะมีแสนยานุภาพมากกว่าอดีต ขณะที่เกาหลีถือว่าบทบาทสำคัญในเศรษฐกิจโลก และยังมีประเทศใหญ่เข้าไปเกี่ยวข้องทั้งสหรัฐ ญี่ปุ่น และจีน หากเกิดสงครามก็จะไม่เป็นผลดี แต่เชื่อว่าจะไม่เป็นไปในทิศทางนั้น เพราะผู้นำจีนก็ส่งสัญญาณขัดเจนว่าจะไม่เกิดสงคราม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ