ทั้งนี้ ในการดำเนินการจัดซื้อรถเมล์ NGV จะแบ่งเป็นรถเมล์ร้อนและรถเมลืปรับอากาศ โดยในที่ประชุม นายกฯ มองว่าอยากให้มีการปรับรถเมล์ปรับอากาศเพิ่มขึ้นจากรถร้อน เนื่องจากจะรณรงค์ให้ประชาชนลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว รวมถึงจัดทำตั๋วร่วมเพื่อให้รถเมล์มีรอยเชื่อต่อกับรถไฟฟ้า และให้ประชาชนเดินทางสะดวกมากขึ้น
"เชื่อว่าการลงทุน 1.3 หมื่นล้านบาท จะเป็นการลงทุนครั้งใหญ่ของประเทศจริงๆ เนื่องจากคนส่วนใหญ่ของประเทศยังคงใช้รถเมล์ในการโดยสารมากกว่าใช้ BTS หรือ อื่นๆ ซึ่งท่านนายกก็ได้กำชับว่าพยายามให้ดูเรื่องของแรงจูงใจ ถ้าเส้นไหนที่รถติดมากๆก็ให้มีแรงจูงใจให้คนเปลี่ยนมาใช้รถเมล์มากขึ้น ซึ่งก็ให้มีการพิจารณาใช้ระบบตั๋วร่วม ท่านมองว่าหากมีการใช้น่าจะสะดวกขึ้น เพื่อเชื่อมโยงต่อกันได้ในหลายๆเส้นทาง ก็เป็นหน้าที่ของกระทรวงคมนาคมที่จะไปพิจารณากันอีกทีหนึ่ง" รมว.คมนาคม กล่าว
ส่วนการจัดซื้อจะไม่ใช้สัญญาเดียว เนื่องจากการแข่งขันอาจไม่เข้มข้น โดยจะเน้นให้เอกชนผู้ประกอบรถยนต์ในประเทศร่วมประมูลในเขตพื้นที่ให้บริการรถเมล์ 8 เขตพื้นที่ในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล เพื่อกระจายให้เอกชนหลายรายร่วมประกอบรถเมล์ และหลีกเลี่ยงปัญหาผู้รับเหมาหนีงาน เหมือนกับก่อสร้างสถานีตำรวจ ซึ่งมีผู้รับเหมาเพียงรายเดียว
ทั้งนี้คาดว่าจะได้ใช้รถเมล์ NGV ได้ใน 18 เดือน ซึ่งจะเป็นการผลิตและประกอบในประเทศเป็นหลัก เพื่อต้องการส่งเสริมการจ้างงานและอุตสาหกรรมประกอบรถยนต์ภายในประเทศ รวมถึงเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศด้วย
"มั่นใจว่าการจัดซื้อ NGV ครั้งนี้จะทำให้ ขสมก.ขาดทุนน้อยลง และจะช่วยดึงดูดประชาชนให้ใช้รถเมล์มากขึ้น เนื่องจาก รถเมล์ที่ใช้ปัจจุบันนั้นใช้ได้แค่ 75% ทำให้วิ่งได้ไม่ถึง 2,000 คัน อย่างไรก็ตามค่าโดยสารยังคงเท่าเดิม ซึ่งยังไม่มีนโยบายที่ให้ค่าโดยสารถูกลง เนื่องจากรถเมล์ฟรียังคงให้บริการอยู่ ประกอบกับปัจจุบัน ขสมก.มีภาระค่าใช้จ่ายที่มากพอสมควร" รมว.คมนาคม กล่าว
อนึ่ง การจัดซื้อรถเมล์มีทั้งรถปรับอากาศและรถเมล์ธรรมดา โดยปัจจุบันรถเมล์ปรับอากาศมีผู้ใช้บริการ 5 แสนคน/วัน ต้องจ่ายค่าโดยสารขั้นต่ำ 14 บาท ขณะที่รถเมล์ธรรมดา ค่าโดยสาร 6 บาท ทำให้ผู้มีรายได้น้อยยังใช้บริการรถเมล์ธรรมดาจำนวนมาก สำหรับรถเมล์ธรรมดาปัจจุบัน มีทั้งรถเมล์ฟรีจำนวน 800 คัน และรถเมล์ที่ประชาชนต้องจ่ายค่าโดยสารอีก 600 คัน ในส่วนของรถเมล์ฟรีมีประชาชนให้บริการ 7 แสนคน/วัน ส่วนที่จ่ายค่าโดยสารมีประมาณ 5 แสนคนต่อวัน ทำให้มีผู้ใช้บริการรถเมล์ธรรมดา 1.2 ล้านคน/วัน
ด้านนายโอภาส เพชรมุณี ผู้อำนวยการ ขสมก. กล่าวว่า พร้อมจัดซื้อรถเมล์ปรับอากาศ NGV ชุดแรก 1,124 คัน เพื่อเปิดให้บริการภายใน 18 เดือน เนื่องจากต้นทุน NGV ราคาเพียง 10 บาท 50 สตางค์/กิโลกรัม หากเป็นดีเซลราคา 30 บาท โดยจะเร่งเดินหน้าขยายปั๊ม NGV เพิ่มอีก 5 แห่งในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล และเร่งเปิดประมูลเอกชนผลิตรถเมล์ให้กับ ขสมก. การจัดซื้อรถเมล์ในวงเงิน 1.3 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 18 เดือน กระทรวงการคลังเป็นผู้หาแหล่งเงินกู้ให้ ขสมก. คิดอัตราดอกเบี้ย 4% กำหนดชำระภายใน 10 ปี
สำหรับแผนการฟื้นฟู ขสมก. ทางกระทรวงการคลังจะนำเสนอให้ที่ประชุม ครม.อีกครั้ง โดยจะมีทั้งแผนการเกษียณอายุราชการก่อนกำหนด จำนวน 2,400 คน และการลดใช้รถเมล์เครื่องดีเซล เปลี่ยนมาเป็น NGV จะลดค่าใช้จ่ายได้ประมาณ 3 พันล้านบาท เพราะทั้งสองแนวทางจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้ถึง 2,600 ล้านบาท/ปี สำหรับภาระหนี้สะสม 5-6 หมื่นล้านบาท จะเสนอให้กระทรวงการคลังยกหนี้เงินกู้ในสัดส่วน 25% ของวงเงินกู้ ส่วนที่เหลือจะเป็นการเดินตามแผนฟื้นฟูเพื่อลดภาระหนี้ ขสมก. หลังจากนั้นคาดว่าสถานะของ ขสมก.จะเริ่มดีขึ้นในอนาคต