จากสภาพปัญหาดังกล่าวทางมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชได้เสนอแนวทางการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมและการปรับปรุงแก้ไขพ.ร.บ.การเช่าที่ดินฯที่เหมาะสม อาทิ การเปิดโอกาสให้เจ้าของที่ดินและผู้เช่านาสามารถตกลงระยะเวลาของการเช่าที่ดินกันใหม่ได้ โดยอาจลดเวลาเดิมลงแต่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของคณะกรรมการซึ่งจะมีภาคท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วม นอกจากนี้ยังได้เสนอแนวทางสนับสนุน เพื่อรักษาที่ดินหรือเปิดโอกาสให้เกษตรกรเข้าถึงที่ดินได้มากขึ้น เช่น การจัดตั้งธนาคารที่ดิน การคุ้มครองที่ดินเพื่อเกษตรกรรม การแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับภาษีที่ดิน การปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เป็นต้น
"พ.ร.บ.การเช่าที่ดินฯ พ.ศ.2524 ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมระหว่างเจ้าของที่นากับผู้เช่าในหลายประการ เช่น ระยะเวลาการเช่านานาน 6 ปี ไม่ก่อให้เกิดแรงจูงใจแก่เจ้าของที่นาที่ไม่สามารถจะนำที่ดินของตนเองไปใช้ประโยชน์อื่นได้ในเวลาที่ต้องการ หรือเงื่อนไขของกฎหมายเดิมเมื่อเจ้าของที่นามีความประสงค์ที่จะขายที่นาที่มีการเช่าจะต้องดำเนินการแจ้งให้ผู้เช่าทราบก่อนและต้องให้สิทธิผู้เช่านาเป็นผู้ซื้อก่อนหรืออัตราค่าเช่านา ไม่เหมาะสม เป็นต้น ซึ่งเป้าหมายของการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ดังกล่าวนี้ จะคำนึงถึงสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายเดิมที่ชาวนาจะได้รับและเพื่อสร้างแรงจูงใจให้แก่เจ้าของที่ดินในการปล่อยเช่าที่นา อย่างไรก็ดี เพื่อให้เกิดความชัดเจนคณะทำงานจะพิจาณาผลสรุปของการศึกษาดังกล่าวโดยละเอียดอีกครั้ง ก่อนส่งเรื่องเสนอต่อคณะกรรมการปรับปรุงกฎหมายของกระทรวงเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป" นายชวลิต กล่าว