ทั้งนี้เพื่อให้การจัดทำแผนปฏิบัติการดังกล่าวมีสาระสำคัญครบถ้วน สอดคล้องกับบริบทการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศสมาชิกอาเซียนแต่ละประเทศ กระทรวงไอซีทีจึงได้ดำเนินการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน Workshop on Developing ASEAN e-Government Strategic Action Plan โดยมีประเทศสมาชิกอาเซียนเข้าร่วม 5 ประเทศ ประกอบด้วย ลาว, ฟิลิปปินส์, ไทย, สิงคโปร์ และเวียดนาม ซึ่งที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบในหลักการของเค้าโครงร่างแผนปฏิบัติการดังกล่าว โดยมีกรอบการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการฯ 5 องค์ประกอบ
1.Governance Provision Plan คือการกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าหมาย และกิจกรรมสำคัญ (Milestone) เพื่อเป็นแนวทาง และแผนการดำเนินงานสำหรับหน่วยงานของรัฐในแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียนสำหรับใช้พัฒนาระบบรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์
2.Online Service Component คือการกำหนดแอพพลิเคชั่นบริการอิเล็กทรอนิกส์ (e-Services) ที่เกี่ยวข้องกับการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้า และเคลื่อนย้ายบุคคลระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน ที่ควรดำเนินการจำนวน 15 บริการ แบ่งเป็นบริการด้านการทะเบียน (Registration) บริการด้านการขออนุญาตและใบรับรอง (Permits and License) บริการด้านภาษีอากร (Revenue Generating) และบริการตอบแทนสังคม (Social Returns)
3.Telecommunication Infrastructure กล่าวถึงแนวทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม ทั้งในด้านคุณภาพของโครงข่ายโทรคมนาคม เทคโนโลยีการสื่อสารที่ใช้ ค่าใช้จ่ายในการใช้บริการอินเทอร์เน็ต การรักษาความมั่นคงปลอดภัย และกิจกรรมสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม
4.Laws and Regulation คือการปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการบริการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ และการดำเนินธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้า และเคลื่อนย้ายบุคคลระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน
5.Human Capital Development เน้นเรื่องการพัฒนาทุนมนุษย์ด้าน ICT ทั้งในเชิงคุณภาพ และเชิงปริมาณ ระดับการเรียนรู้ด้านไอซีที ตลอดจนมาตรฐานวิชาชีพที่จะยอมรับร่วมกันในภูมิภาคอาเซียน
"แผนปฏิบัติการการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียนที่จัดทำขึ้นนี้ จะเป็นกรอบการดำเนินงานพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศสมาชิกอาเซียน ในการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าและเคลื่อนย้ายบุคคล เพื่อเตรียมการรองรับการพัฒนาและเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างระบบบริการของแต่ละประเทศในอาเซียนเข้าด้วยกัน อันจะเป็นส่วนสนับสนุนสำคัญในการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนต่อไป" ปลัดกระทรวงไอซีที กล่าว
พร้อมระบุว่า สำหรับในประเทศไทยกระทรวงไอซีทีจะจัดประชุมเพื่อนำเสนอร่างแผนปฏิบัติการฯ และประเด็นข้อเสนอแนะที่ประเทศไทยควรจะต้องเร่งดำเนินการให้หน่วยงานของรัฐได้รับทราบ รวมทั้งจัดการประชุมรับฟังข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็นของภาคเอกชนที่มีต่อการบริการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อนำข้อมูลที่ได้จากทุกภาคส่วนมาใช้ประกอบการจัดทำแผนการดำเนินงานพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ และการจัดทำแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศไทย ฉบับที่ 3 ต่อไป