(เพิ่มเติม) ผู้ว่า ธปท.รายงานนายกฯ บาทแข็งค่าเร็วเกินไป-ดูความเหมาะสมใช้มาตรการ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 10, 2013 13:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวหลังรายงานสถานการณ์เงินบาทแข็งค่าต่อนายกรัฐมนตรีว่า นายกรัฐมนตรีได้สอบถามว่าค่าเงินบาทเปลี่ยนแปลงเร็วเกินไปหรือไม่ หรือมีความผิดปกติเกิดขึ้นหรือไม่ และจำเป็นต้องมีมาตรการที่จะต้องดูแลเป็นพิเศษหรือไม่ ซึ่งทาง ธปท.ให้ความเห็นว่าในช่วงที่ผ่านมาเงินบาทแข็งค่าเร็วเกินไป โดย ธปท.ก็ได้ติดตามอย่างใกล้ชิด และในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ทำหนังสือถึงธนาคารที่ดูแลหลักทรัพย์ของผู้ลงทุนต่างประเทศเพื่อขอข้อมูลว่าผู้ลงทุนเหล่านั้นเป็นใครบ้าง เพื่อนำมาอำนวยความสะดวกในการติดตาม หรือมาดูว่าจำเป็นต้องมีมาตรการที่เหมาะสมอย่างไรหรือไม่

สำหรับมาตรการที่จะใช้ดูแลปัญหาค่าเงินบาทในขณะนี้นั้น ผู้ว่าการ ธปท.ยืนยันว่าจะดูตามความเหมาะสม และจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดว่าภาวะที่เกิดขึ้นมีความผิดปกติหรือไม่

ส่วนผลกระทบต่อปัญหาเงินบาทแข็งค่าอย่างหนักนั้น ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า ได้รายงานนายกรัฐมนตรีว่ามีทั้งผู้ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบหลักคือผู้ส่งออกที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก รวมถึงผู้ประกอบการรายกลางและรายใหญ่ โดย ธปท.ได้ขอความร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ในการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ ทั้งการประกันความเสี่ยง และการฝากรายได้ในรูปเงินตราต่างประเทศ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวมากขึ้น

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้ขอให้ ธปท.ติดตามข้อมูลเหล่านี้อย่างใกล้ชิด และเห็นพ้องกับความเห็นที่ ธปท.ได้รายงานในวันนี้ พร้อมกันนั้น นายกรัฐมนตรีให้ความสนใจกับผลกระทบต่อเอสเอ็มอีรายอุตสาหกรรม เพื่อพิจารณาว่าจำเป็นต้องเยียวยาอย่างไรหรือไม่

ด้านนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังจะดูแลเรื่องเงินไหลเข้าไหลออก และการกู้เงินของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งจะดูแลไม่ให้มีการกู้เงินจากต่างประเทศ หรือหากมีข้อตกลงเงินกู้จากต่างประเทศก็จะลดจำนวนลง

ขณะที่การเบิกจ่ายเงินตราต่างประเทศของรัฐวิสาหกิจทั้งระบบ ในปีนี้จะมีสัดส่วนที่ต้องจ่ายค่าสินค้าที่เป็นเงินตราต่างประเทศประมาณแสนล้านบาท ซึ่งในช่วงนี้ก็ได้เร่งหารือกับรัฐวิสหากิจทุกแห่งให้มีการลงทุนและใช้จ่ายเงินตราต่างประเทศโดยเร็ว เพื่อช่วยแบ่งเบาผลกระทบจากเงินไหลเข้าที่ทำให้เงินบาทแข็งค่าอย่างหนัก รวมทั้งการเร่งส่งเสริมให้มีการลงทุนต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน โดยจากการหารือกับธปท.พบว่าเงื่อนไขต่างๆ เกี่ยวงกับการนำเงินออกไปลงทุนได้มีการผ่อนคลายไปแล้ว ไม่ว่าการลงทุนในหุ้น หรือในภาคการผลิต ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีการออกไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น

ในขณะที่รัฐบาลมีโครงการที่จำเป็นต้องเร่งลงทุนเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ 2 ล้านล้านบาท ซึ่งรัฐบาลจะกู้เงินในประเทศเป็นหลัก โดย 40% เป็นการซื้อวัสดุจากต่างประเทศ

"สถานการณ์อย่างนี้เราจะให้เงินที่ไหลเข้าอยู่ระยะยาวเพื่อช่วยในเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ก็อยากให้เกิดความมั่นใจว่าการกู้ของรัฐบาลจะกู้ในประเทศและการออกพันธบัตรที่ออกทุกวันนี้ เราพยายามวางเงื่อนไขให้ประชาชนรายย่อยซิ้อได้มากกว่านักลงทุนใหญ่ นี่คือมาตรการที่วางไว้ทั้งหมด"นายอารีพงศ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม เงินบาทจะแข็งค่าขึ้นกว่านี้หรือไม่นั้น ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า คงต้องติดตามสถานการณ์ แต่ในขณะนี้ยังไม่จำเป็นต้องมีมาตรการเข้มข้นออกมา

"มาตรการเข้มข้นทำได้ แต่จะทำให้ทุกอย่างไม่ปกติ ซึ่งวันนี้ยังไม่ถึงจุดนั้น" นายอารีพงศ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ