คลัง คาดเบิกจ่ายเงินกู้ 2 ล้านลบ.ปีแรกราว 3 หมื่นลบ.เริ่มสร้างถนน-รถไฟรางคู่

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 11, 2013 15:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอารีพงศ์ ภู่ชะอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภายใต้ พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ได้มีการจัดทำประมาณการว่าในปีแรกหลังกฎหมายมีผลบังคับใช้จะมีการเบิกจ่ายเงินกู้ได้ราว 3 หมื่นล้านบาท และปีที่ 2 เพิ่มเป็น 1 แสนล้านบาท และปีถัดไปจะเพิ่มขึ้นเป็น 3 แสนล้านบาท โดยการกู้เงินจะมีการเพิ่มขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ
"กฎหมายนี้ตั้งใจให้เกิดความชัดเจนของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เพราะที่ผ่านมากระบวนการงบประมาณรองรับการลงทุนระดับเล็กๆในลักษณะงบผูกพัน แต่โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 7-8 ปีควรต้องมีความต่อเนื่อง" นายอารีพงศ์ กล่าว

ทั้งนี้ หลังจากมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานโดยไม่ต้องกันเงินงบประมาณแต่ละปี จะทำให้รัฐบาลสามารถนำเงินงบประมาณไปลงทุนด้านอื่นได้ โดยเฉพาะด้านการศึกษา โดยจะเห็นว่ามีการตั้งงบลงทุน 18% ในงบประมาณรายจ่ายมีการจัดสรรเพื่อการลงทุนในระบบรางถึง 1 แสนล้านบาท ซึ่งรัฐบาลสามารถกันเงินงบประมาณส่วนนี้มาลงทุนเพื่อการศึกษาและเพื่อสังคมได้ โดยโครงการที่สามารถดำเนินการได้ทันที เพราะไม่ต้องมีการศึกษาด้านอื่นๆ เช่น EIA คือ การลงทุนด้านถนน และสร้างรถไฟรางคู่บางจุด ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวอีกว่า การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ ซึ่งทุกฝ่ายไม่ขัดข้องที่จะมีการลงทุนเกี่ยวกับการทำรถไฟรางคู่ การสร้างถนน แต่ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการลงทุนรถไฟความเร็วสูงว่าจะเกิดความคุ้มค่าในการลงทุนมากน้อยแค่ไหน

"โครงการรถไฟความเร็วสูงจะต้องมีการศึกษาทั้ง study master plan จากนั้นจะมีการศึกษาว่าจะเริ่มโครงการไหน หน่วยงานเจ้าของเรื่องก็ต้องเริ่มศึกษากฎหมาย ด้าน EIA ความคุ้มค่าการลงทุน และเสนอ 3 หน่วยงาน คือ คลัง สภาพัฒน์ฯ คมนาคม พิจารณา ก่อนเสนอ ครม.เห็นชอบ"ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าว

สำหรับการลงทุนโครงการทวาย ฝ่ายรัฐบาลไทยและพม่าจะต้องยกร่างกฎหมายเกี่ยวกับการให้สิทธิประโยชน์ในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย (Economic Special Zone)คาดว่าจะชัดเจนภายใน 3-4 เดือน โดยจะมีรายละเอียดเกี่ยวกับการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ ซึ่งภายใต้กรอบข้อตกลงจะมีการจัดตั้งนิติบุคคลเฉพาะกิจ (SPV) ถือหุ้นเท่ากันระหว่างไทยกับพม่า และออกกฎหมายรองรับการเข้ามาร่วมลงทุนของประเทศอื่นด้วย ซึ่งจะมีการพิจารณาสัญญาการให้สัมปทานพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งท่าเรือ ถนน ไฟฟ้า ให้เกิดความชัดเจนเพื่อดึงดูดความสนใจของภาคเอกชนของประเทศต่างๆ คาดว่าภายในเดือน มิ.ย.56 จะเกิดความชัดเจน

"ตอนนี้มีหลายประเทศสนใจ เช่น ญี่ปุ่น ก็มีการส่งทีมมาศึกษาท่าเรือ แผนการลงทุนและความคุ้มค่าการลงทุนก็เห็นออกมาแล้ว" ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ