ต้นเดือน เม.ย.56 กระทรวงการคลังได้ใส่เงินเพิ่มให้เอสเอ็มอีแบงก์ไปแล้ว 550 ล้านบาท และหลังสงกรานต์จะใส่เงินเพิ่มทุนให้ ibank จำนวน 450 ล้านบาท ซึ่งจัดสรรจากงบประมาณปี 56 ส่วนเงินเพิ่มทุนที่เหลือจะได้จัดสรรจากงบประมาณปี 57 ต่อไป
อย่างไรก็ตาม การเพิ่มทุนให้สถาบันเฉพาะกิจของรัฐทั้ง 2 แห่ง จะต้องมีการฟื้นฟูกิจการให้ได้ตามแผนที่กำหนดไว้ โดยทั้งสองแห่งจะต้องมีการจัดคณะทำงานติดตามดูแลแก้ปัญหาหนี้เสียเป็นระยะๆ โดยปัจจุบันเอสเอ็มอีแบงก์มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) ราว 3 หมื่นล้านบาท และ ibank มี NPL อยู่ที่ 2.4 หมื่นล้านบาท ขณะนี้แต่ละแห่งอยู่ระหว่างการเริ่มแก้หนี้ NPL ล็อตแรก 1 หมื่นล้านบาทให้ได้ตามแผนก่อน
"จากจุดนี้ไป ทั้งสองแบงก์จะมีผลประกอบการเป็นบวกทุกไตรมาส นำไปสู่การฟื้นกิจการเข้าสู่ภาวะปกติ"นายอารีพงศ์ กล่าว
ทั้งนี้ เพื่อการกำกับดูแลการดำเนินงานของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐเกิดความชัดเจน จึงได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)เป็นหน่วยงานหลักในการดูแล เพื่อให้เกิดการตรวจสอบชัดเจนและนำไปสู่การทำบันทึกข้อตกลงด้านต่างๆ จากเดิม สศค.จะร่วมทำงานกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) แต่พบว่ากลไกการทำงานยังไม่ดีพอ