(แก้ไข) ศูนย์กสิกรฯคาดปีนี้เงินบาทอยู่ที่ 28.50-31.00 บาท/ดอลล์,Flow หนุนแข็งค่า

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 12, 2013 09:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.กาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้จัดการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจมหภาค บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า กรณีที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยวานนี้เงินบาทแข็งค่าที่สุดในรอบ 16 ปี อยู่ที่ 28.89 บาท/ดอลลาร์ เป็นการทำ New High ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยหลายอย่าง ได้แก่ ธนาคารกลางญี่ปุ่น(BOJ) ดำเนินนโยบายผ่อนคลายเชิงรุกมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ทำให้สกุลเงินเยนอ่อนค่า ประกอบกับตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐฯออกมาไม่ค่อยดีอย่างที่คาดการณ์ จึงมีแรงขายดอลลาร์ในตลาด ฉะนั้นภาพรวมต่างๆ จึงทำให้เงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้น รวมถึงในช่วงนี้มี market talk ว่าจะมีการ Settle เงินในส่วนที่เป็นต่างชาติเข้ามาซื้อกองทุนที่เป็น BTS เลยทำให้เป็นภาพที่มี in flow เข้ามาอย่างต่อเนื่องและนักลงทุนต่างชาติก็ยังอยู่ในสถานะซื้อสุทธิในตลาดพันธบัตร
"FED ทำ QE แบงค์ชาติญี่ปุ่นทำ QE ทำให้มี Flow เข้ามาเอเชีย เติมเข้ามาในตลาดเงิน ตลาดทุนไทย แต่ทางฝั่งยุโรปจะเป็นตัวแปรที่มาทำให้ภาพต่างๆ เหล่านี้มีความไม่แน่นอน อย่างยุโรปก็ยังคงมีเรื่องของวิกฤตหนี้อยู่ ฉะนั้นถ้าเป็นเรื่องของ Movement ปัจจัยต่างๆของต่างประเทศก็ต้องจับตาดู 2 ตัว คือ การดำเนินนโยบายการเงินเชิงผ่อนคลายของ FED และ BOJ และ ดู Sentiment วิกฤตหนี้ยูโรโซนว่าจะไถลลงไปใหม่หรือไม่"

ทั้งนี้คาดการณ์ว่าทั้งปีเงินบาทจะอยู่ที่ 28.50-31.00 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งมองว่าแนวโน้มเงินบาทจากนี้ไปจะเป็นการทยอยไปในด้านที่แข็งค่าขึ้นเรื่อยๆ โดยระดับเงินบาทแข็งค่าขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาส่งสัญญาณที่ชัดมากขึ้นว่าเงินบาทแข็งค่าเร็วเกินไป ธปท.ก็คงออกมาดูแลมากขึ้นเนื่องจากเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยมองว่า ธปท.จะไม่ได้ดูที่ระดับของค่าเงินเพียงอย่างเดียว แต่อาจจะเปรียบเทียบดูกับสกุลเงินต่างๆในภูมิภาค ซึ่งก็คงดูในเรื่องของจังหวะว่า อธิบายได้หรือไม่ว่าเป็นการเคลื่อนย้ายของเงินทุนประเทศที่มีความกังวล

สำหรับมาตรการต่างๆ ที่ ธปท.จะนำมาใช้หรือไม่นั้นมองว่าอาจจะมีการใช้เมื่อจำเป็นมากกว่า แต่ขณะที่ ธปท.ออกมาส่งสัญญาณถึงการแข็งค่าของเงินบาทก็ส่งผลให้ตลาดมีการเบรกตัวเองเหมือนกัน ซึ่งภาพในระยะข้างหน้าถึงแม้ว่าเงินบาทจะแข็งค่าอยู่ก็อาจจะเป็นการทยอยแข็งค่ามากกว่า โดย ธปท.ก็จะเข้ามาดูแลเป็นจังหวะๆ ก็มองว่าการแข็งค่าของเงินบาทหลังจากนี้เป็นต้นไปอาจจะเป็นภาพที่ยังเห็นอยู่ เนื่องจากยังมีเงินทุนไหลเข้ามา

ผู้จัดการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจมหภาค กล่าวว่า ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้จัดทำสมมุติฐานของค่าเงินที่ใช้ในการประมาณการณ์ ซึ่งได้ใช้ค่าเฉลี่ยเงินบาททั้งปีอยู่ที่ 29.50 บาท/ดอลลาร์งหากเงินบาททยอยแข็งค่าที่มีระดับปิดที่สิ้นปีอยู่ที่ 28.50 บาท/ดอลลาร์ ค่าเฉลี่ยของเงินบาทที่ 29.50 บาท/ดอลลาร์ ยังพอจะยืนอยู่ได้ ส่วนด้านการส่งออกและจีดีพีก็จะขยายตัวได้ตามการคาดการณ์ โดยอยู่ที่ 4.8% ซึ่งจากการวิจัยระดับของค่าเงินบาท เมื่อเปรียบเทียบกับทิศทางเศรษฐกิจและการส่งออก พบว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นทุก 1% จะกดให้จีดีพีลดลง 0.1-0.3% และการส่งออกจะลดลง 0.6-1.1%

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ยังคงต้องติดตาม คือ มาตรการของการใช้นโยบายเชิงผ่อนคลายของธนาคารกลางญี่ปุ่น และธนาคารกลางสหรัฐฯ รวมถึงวิกฤตหนี้ยุโรป ที่ยังเป็นภาพที่ไม่ค่อยชัด โดยต้องติดตามประเทศสโลวีเนีย และประเทศสเปน ที่ยังคงมีปัญหาเกี่ยวกับภาคเศรษฐกิจทางการคลัง และปัญหาที่เกิดขึ้นใหม่ คือ BANKING SECTOR เข้ามาอีก จึงต้องจับตาเป็นพิเศษ รวมถึงต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจของสหรัฐและอิตาลี ที่อาจทำให้ฐานะทางการคลังถดถอยลงไปได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ