วิจัยกสิกรฯ แนะเร่งสร้างความมั่นคงด้านไฟฟ้ารองรับความต้องการใช้ในอนาคต

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 12, 2013 10:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ความเสี่ยงระยะสั้นจากปัญหาไฟฟ้าสำรองไม่เพียงพอในช่วงที่พม่าหยุดซ่อมแท่นก๊าซ ระหว่างวันที่ 5-14 เม.ย.56 ซึ่งถือเป็นช่วงที่เข้าใกล้เทศกาลสงกรานต์ได้เริ่มลดลงแล้ว เนื่องจากการรับทราบปัญหาก่อน ทำให้ภาครัฐรวมทั้งภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรมต่างๆ จึงมีเวลาวางแผนรับมือได้ทัน ขณะที่การซ่อมแซมแท่นก๊าซในพม่าก็มีความคืบหน้า ประกอบกับสภาพอากาศในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่คาดว่าจะมีพายุและฝนตกอาจช่วยลดปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าได้บางส่วน คนไทยจึงสามารถฉลองสงกรานต์ได้อย่างสบายใจ

อย่างไรก็ดี ในระยะข้างหน้าประเทศไทยยังมีความเสี่ยงด้านไฟฟ้าอยู่ 2 มิติ คือ ความเสี่ยงจากการพึ่งพิงเชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติในสัดส่วนสูง และความเสี่ยงจากกำลังไฟฟ้าสำรองอยู่ในระดับต่ำลงจากความต้องการใช้ไฟฟ้าต่อปีที่เพิ่มสูง(ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าในปี 56 จะเพิ่มขึ้นจากปีก่อนประมาณ 8-9%) และจากโรงไฟฟ้าใหม่ที่เข้าระบบล่าช้ากว่าแผน

สำหรับมาตรการที่จะช่วยสร้างความยั่งยืนและมั่นคงด้านไฟฟ้าของประเทศไทย นอกเหนือจากการสนับสนุนการใช้ไฟฟ้าอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพทั้งในภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจแล้ว ก็ควรต้องเร่งผลักดันโรงไฟฟ้าใหม่ที่จะเข้าสู่ระบบให้เป็นไปตามแผน โดยคำนึงถึงการกระจายแหล่งเชื้อเพลิงให้หลากหลาย ภายใต้ต้นทุนการผลิตที่ส่งผลต่อภาระค่าไฟฟ้าภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ ในระดับที่ยอมรับได้

"แม้ว่าความเสี่ยงที่จะเผชิญกับปัญหาไฟฟ้าตกหรือดับในเดือนเมษายน 2556 จะลดลงไปมาก แต่สำหรับประเทศไทย สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญตอนนี้ก็คือ เสถียรภาพและความมั่นคงทางด้านไฟฟ้าในระยะปานกลางและระยะยาว ซึ่งทุกฝ่ายควรให้ความสนใจ" เอกสารเผยแพร่ระบุ

ทั้งนี้ หากพิจารณาโครงสร้างการผลิตและการใช้ไฟฟ้าของไทย พบว่ายังคงมีความเสี่ยงอย่างน้อยใน 2 ด้าน ที่อาจส่งผลต่อความมั่นคงและความยั่งยืนด้านไฟฟ้าของไทย ซึ่งประกอบไปด้วย 1.ความเสี่ยงจากการพึ่งพิงแหล่งเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติในอัตราสูง และ 2.ความเสี่ยงจากกำลังไฟฟ้าสำรองอยู่ในระดับต่ำ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยแม้ว่าตามแผน PDP 2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 พบว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าของไทยในช่วงปี 55-73 ในส่วนของความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดจะเพิ่มขึ้นจาก 26,355 เมกะวัตต์ในปี 55 เป็น 52,256 เมกะวัตต์ในปี 73 หรือเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 4.16% ต่อปี และความต้องการใช้ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นจาก 175,069 GWh (กิกะวัตต์-ชั่วโมง) ในปี 55 มาอยู่ที่ 346,767 GWh ในปี 73 หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4.13% ต่อปี Zการพยากรณ์ดังกล่าวตั้งอยู่บนสมมติฐานการเติบโตของเศรษฐกิจไทยเฉลี่ย 4.4% ต่อปี ในช่วงปี 55-73)

สำหรับในส่วนของกำลังไฟฟ้าใหม่ที่จะเข้าระบบในช่วงปี 55-73 จะอยู่ที่ 55,130 เมกะวัตต์ และมีกำลังไฟฟ้าที่ต้องปลดออกจากระบบ 16,839 เมกะวัตต์ ส่งผลให้กำลังไฟฟ้าในปี 73 อยู่ที่ 70,686 เมกะวัตต์ ซึ่งถือว่าครอบคลุมความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น

"หากความต้องการใช้ไฟฟ้า รวมทั้งกำลังผลิตไฟฟ้าที่เข้าใหม่ไม่เป็นไปตามสมมติฐานและการพยากรณ์ ซึ่งอาจเกิดจากปัจจัยทางด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือความล่าช้าของโรงไฟฟ้ารายใหม่ที่เข้าระบบ หากมีกรณีเช่นนี้ก็ย่อมหมายถึงความเสี่ยงทางด้านความมั่นคงด้านไฟฟ้าของไทยที่อาจส่งผลกระทบไปถึงเศรษฐกิจโดยรวม" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

ดังนั้น เพื่อเป็นการรองรับความเสี่ยงดังกล่าว ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจึงควรต้องพิจารณาวางแผนการรับมือ โดยภาครัฐควรเร่งกำลังผลิตไฟฟ้าที่จะเข้าสู่ระบบทั้งในส่วนที่ผลิตเอง และส่วนที่รับซื้อจากเอกชน รวมทั้งที่นำเข้าไฟฟ้าจากต่างประเทศให้เป็นไปตามแผนการที่วางไว้ ขณะเดียวกันก็ควรหาวิธีกระจายแหล่งเชื้อเพลิงนอกเหนือจากการพึ่งพิงก๊าซธรรมชาติในสัดส่วนที่สูง เช่น ถ่านหินสะอาด พลังงานทดแทนอื่นๆ เช่น แสงอาทิตย์ ลม และชีวมวล โดยต้องนำหลายปัจจัยมาพิจารณาเพื่อประกอบการตัดสินใจ ทั้งทางด้านต้นทุนการผลิตต่อหน่วยของโรงไฟฟ้าตามประเภทเชื้อเพลิง รวมทั้งความยั่งยืนในการจัดหาวัตถุดิบ ควบคู่ไปกับการคำนึงถึงปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นข้อกังวลสำคัญของภาคประชาชน

สำหรับในส่วนของภาคการผลิตรวมทั้งภาคครัวเรือนก็ต้องเข้ามามีส่วนร่วม โดยการใช้ไฟฟ้าอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ซึ่งมีสัดส่วนการใช้ไฟฟ้าถึง 45% รวมทั้งภาคครัวเรือนที่มีการใช้ 22.5% ของการใช้ไฟฟ้าทั้งหมดที่เกิดขึ้นจริงในปี 55 ซึ่งมีประมาณ 161,778 GWh (กิกะวัตต์-ชั่วโมง) ทั้งนี้หากสามารถดำเนินมาตรการลดการใช้ไฟฟ้าลงได้ 5-10% นอกจากจะช่วยให้ประเทศมีกำลังไฟฟ้าสำรองเพิ่มขึ้นยังช่วยลดความจำเป็นในการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ลงได้หลายแห่งอีกด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ