รายงานในหัวข้อเสถียรภาพการเงินโลกซึ่งจัดทำขึ้นปีละ 2 ครั้งของไอเอ็มเอฟระบุว่า มาตรการที่ธนาคารกลางของอังกฤษ ญี่ปุ่น สหรัฐ และยูโรโซนนำมาใช้หลังเกิดวิกฤตการเงินโลกในปลายทศวรรษ 2000 ได้สร้างความเปราะบางให้กับภาคธนาคารภายในประเทศในระยะสั้น
ไอเอ็มเอฟระบุว่า นโยบายของธนาคารกลางเหล่านี้เกี่ยวพันกับความเสี่ยงทางการเงินที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นหากใช้มาตรการนี้ในระยะยาว พร้อมกับเสริมว่า สถานการณ์ในปัจจุบันได้บ่งชี้ถึงสัญญาณของการถ่วงเวลาในการแก้ไขงบดุลของภาคธนาคารและอาจนำไปสู่ความเสี่ยงในเรื่องสินเชื่อในระยะกลาง
ในขณะที่ธนาคารกลางของประเทศดังกล่าวได้ถือครองพันธบัตรรัฐบาลเป็นจำนวนมาก ไอเอ็มเอฟได้เรียกร้องให้ธนาคารกลางสื่อสารอย่างระมัดระวังกับตลาดการเงิน เพื่อป้องกันการปรับตัวขึ้นอย่างรุนแรงของอัตราดอกเบี้ยภายในประเทศในระยะยาว
“หากภาวะเศรษฐกิจนำไปสู่การยกเลิกมาตรการกระตุ้นทางการเงิน ตลาดอาจจะคาดการณ์กันว่า ธนาคารกลางอาจจะเปลี่ยนแปลงจากการถือครองพันธบัตรเป็นการขาย ซึ่งการคาดการณ์ดังกล่าวจะผลักดันให้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้นอย่างมาก" ไอเอ็มเอฟระบุ สำนักข่าวเกียวโดรายงาน