แต่ในขณะนี้มองว่ายังไม่มีความจำเป็นต้องออกมาตรการพิเศษออกมาดูแลการเก็งกำไรค่าเงิน เพราะมีหน่วยงาน ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ดูแลอยู่แล้ว ขณะที่กระทรวงการคลังจะดูแลด้านนโยบายและทิศทางเศรษฐกิจระยะกลางและระยะยาว
"ส่วนตัวไม่ชอบเห็นเงินบาทแข็งค่าขึ้นในลักษณะอย่างนี้ แต่เมื่อแข็งค่าไปแล้ว ภาคธุรกิจควรฉกฉวยโอกาสในการนำเข้าสินค้าเพื่อดำเนินธุรกิจ เพื่อมาชดเชยภาคการส่งออกที่เป็นลบ ซึ่งการนำเข้าที่เป็นโอกาสในขณะนี้จะมาชดเชยสัดส่วนจีดีพีภาคการส่งออกของประเทศได้เช่นกัน พร้อมทั้งช่วยลดความเสียหายของการแข็งค่าของค่าเงินบาทในที่สุด"นายกิตติรัตน์ กล่าว
สำหรับสถานการณ์เงินบาทในขณะนี้ถือว่าแข็งค่าสูงสุดในรอบ 17 ปีมาอยู่ที่ 28.82-28.83 บาท/ดอลลาร์ ส่งผลกระทบกับการส่งออกของไทยในปี 56 โดยกังวลว่าเป้าหมายการขยายตัวของการส่งออกในปีนี้ที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งไว้ที่ 9% อาจได้รับแรงกดดันจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น
อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงอุตสาหกรรมจะพยายามหาแนวทางผลักดันการส่งออกให้มากขึ้น โดยเร็ว ๆ นี้จะมีการโรดโชว์ใน 7 ประเทศ เช่น อินโดนีเซีย อินเดีย จีน เมียนมาร์ รัสเซีย บราซิล และประเทศแถบแอฟริกา เพื่อผลักดันให้การส่งออกเป็นไปตามเป้าหมายให้ได้
"เราจะทำให้ดีที่สุดเพื่อรักษาระดับการส่งออกบนภาวะค่าเงินบาทผันผวน โดยหน่วยงานต่างๆก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ทางกระทรวงการคลังเองก็มีหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆเพื่อให้เกิดการบูรณาการร่วมกัน"นายกิตติรัตน์ กล่าว
ส่วนโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาทนั้น ยังมีกระบวนการการก่อสร้างที่ในขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภา ดังนั้นจึงยังไม่สามารถเป็นส่วนหนึ่งที่จะมาช่วยชะลอการแข็งค่าของเงินบาท