ก.อุตฯ คาดหากบาทยังแข็งค่าต่อเนื่อง ส่งผลกระทบมูลค่าส่งออกปี 56 ลดลง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 18, 2013 17:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ โฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สถานการณ์ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมากในช่วง 3 สัปดาห์แรกของปี 56 จากนั้นค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอย่างช้าๆ และกลับมาแข็งค่ามากขึ้นตั้งแต่ช่วงกลายเดือนมีนาคม 56 และค่าเงินบาทล่าสุด ณ วันที่ 17 เมษายน 56 อยู่ที่ 28.928 บาท/ดอลลาร์

ทั้งนี้ จากเงินบาทที่แข็งค่าที่ 28 บาท ส่งผลให้อุตสาหกรรม อาทิ การผลิตเครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์, การผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนประกอบ, การผลิตอัญมณีและเครื่องประดับ, การแปรรูปข้าว, การผลิตภัณฑ์ยาง, การผลิตพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก ได้รับผลกระทบจากมูลค่าการผลิตที่ลดลง โดยคาดว่ามูลค่าลดลงราว 3.5 หมื่นล้านบาท แต่หากกรณีที่ 29 บาท จะส่งผลให้มูลค่าลดลงราว 2.3 หมื่นล้านบาท

"ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับต้นปีที่แข็งค่าขึ้น 4.71% ในขณะที่ประเทศมาเลเซียค่าเงินแข็งค่าขึ้นเพียงเล็กน้อย อินโดนีเซียค่าเงินปรับตัวอ่อนค่าลง รวมถึงค่าเงินเยนที่อ่อนค่าถึง 13.50% โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเพิ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางญี่ปุ่น" นายณัฐพล กล่าว

ทั้งนี้การแข็งค่าของเงินบาทเป็นปัจจัยหนึ่งที่เพิ่มแรงกดดันต่อการส่งออกของอุตสาหกรรมไทยที่ยังมีความเปราะบางตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลก จากการคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกของ IMF เม.ย.56 ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจโลกโดยจะขยายตัว 3.3% ลดลง 0.2% จากการประมาณการณ์เมื่อเดือนมกราคม 56 สะท้องถึงความกังวลต่อเศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีอยู่ และการปรับเพิ่มการขยายตัวของภูมิภาคอาเซียนโดยขยายตัว 5.9% ปรับเพิ่มขึ้นจากประมาณการณ์ครั้งก่อน 0.3% สะท้อนถึงความเชื่อมั่นที่ดีต่อภูมิภาคอาเซียน ซึ่งอาจจะมีเงินทุนเคลื่อนย้ายมายังอาเซียนตามไปด้วย ซึ่งเงินทุนในหลักทรัพย์หรือ Portfolio Invesment ของไทยในภาพรวมมีค่าเป็นบวกและลบสลับกันไป โดยในปี 55 มีมูลค่า 4,415.26 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่ทั้งนี้ในเดือนม.ค. 56 เพียงเดือนเดียวมีมูลค่าสูงถึง 3,869.43 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ถือได้ว่ามีเงินทุนไหลเข้าในตลาดหุ้น ตลาดพันธบัตร และตลาดเงิน ที่มีผลตอบแทนที่ดีหรือในประเทศที่มีแนวโน้มทางเศรษฐกิจดี

นายณัฐพล กล่าวว่า นโยบายและมาตรการลดผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่า คือ เพิ่มการค้าภายในภูมิภาคในกลุ่มอาเซียน โดยเฉพาะกลุ่ม CLMV ที่เริ่มเปิดประเทศเศรษฐกิจจะมีการขยายตัวสูงจากความได้เปรียบด้านที่ตั้งของไทย ต้นทุนขนส่งสินค้าที่ต่ำ ภาษีการค้าที่จะเป็น 0% และสินค้าไทยเป็นที่ยอมรับ, สนับสนุนให้ผู้ประกอบการไปลงทุนต่างประเทศเพื่อขายความสามารถในการผลิตที่ปัจจุบันมีข้อจำกัดจากปัจจัยการผลิตโดยเฉพาะแรงงาน เพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจและการค้าในกลุ่ม AEC และประเทศเศรษฐกิจใหม่, สนับสนุน SMEs บุกตลาดอาเซียนโดยเฉพาะกลุ่ม CLMV เนื่องจากเป็นตลาดที่ SMEs สามารถทำตลาดได้ง่ายกว่าตลาดอื่น,ดูแลค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวน และไม่ให้แข็งค่าเร็วเกินไป เพราะจะส่งผลให้กำหนดราคาขายลำบาก ไม่สามารถทำข้อตกลงซื้อขายระยะยาวได้ เกิดปัญหาขาดทุน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ