"เงินบาทปรับตัวแข็งค่าตาม inflow มากกว่า ขณะที่ยูโรและค่าเงินในภูมิภาคไม่ได้แข็งค่า ต่างชาติขายดอลลาร์" นักบริหารเงิน กล่าว
นักบริหารเงินประเมินการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้ไว้ในกรอบระหว่าง 28.60-28.70 บาท/ดอลลาร์ โดยมีแนวโน้มปรับตัวแข็งค่าต่อเนื่อง
*ปัจจัยสำคัญ
- อัตราแลกเปลี่ยนบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคาร ธปท.วันนี้อยู่ที่ 28.787 บาท/ดอลลาร์
- เงินเยนอยู่ที่ระดับ 98.15/20 เยน/ดอลลาร์ จากเย็นวานนี้ที่ระดับ 98.40/41 เยน/ดอลลาร์
- เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.3054/3057 ดอลลาร์/ยูโร จากเย็นวานนี้ที่ระดับ 1.3066/3068 ดอลลาร์/ยูโร
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้(18 เม.ย.) เนื่องจากข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าผิดหวังของสหรัฐได้กระตุ้นให้นักลงทุนเข้าซื้อทองคำซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัย นอกจากนี้การที่ราคาทองคำร่วงลงอย่างรุนแรงในช่วงที่ผ่านมานับเป็นโอกาสที่นักลงทุนจะเข้ามาช้อนซื้อเก็งกำไรด้วย โดยสัญญาทองคำตลาด COMEX(Commodity Exchange) ส่งมอบเดือน มิ.ย.เพิ่มขึ้น 9.8 ดอลลาร์ หรือ 0.71% ปิดที่ 1,392.5 ดอลลาร์/ออนซ์
- สมาคมแลกเปลี่ยนทองคำและเงินของจีน เปิดเผยว่า ราคาทองคำที่ตลาดฮ่องกงเพิ่มขึ้น 32 ดอลลาร์ฮ่องกง เปิดที่ระดับ 12,950 ดอลลาร์ฮ่องกง/ตำลึงในวันนี้ หรือเทียบเท่ากับ 1,400.83 ดอลลาร์สหรัฐ/ทรอยออนซ์ เพิ่มขึ้น 3.46 ดอลลาร์สหรัฐ ที่อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐ/ 7.761 ดอลลาร์ฮ่องกง
- สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐร่วงลงเมื่อเทียบกับเงินยูโรและสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้(18 เม.ย.) หลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอ รวมถึงว่าจำนวนคนว่างงานรายสัปดาห์ที่เพิ่มขึ้น และดัชนีชี้นำเศรษฐกิจที่หดตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน โดยค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังค์สวิสที่ระดับ 0.9323 ฟรังค์ จากระดับ 0.9338 ฟรังค์ แต่ขยับขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 98.12 เยน จากระดับ 97.85 เยน
ขณะที่ค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.3050 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.3013 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะระดับ 1.5284 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.5237 ดอลลาร์สหรัฐ และค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียร่วงลงแตะระดับ 1.0283 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.0292 ดอลลาร์สหรัฐ
- สำนักงานสถิติแห่งชาติของอังกฤษ(ONS) เปิดเผยวานนี้ว่า ยอดค้าปลีกในอังกฤษลดลง 0.7% ในเดือน มี.ค.จากผลกระทบของสภาพอากาศที่หนาวเย็น โดยผลสำรวจความคิดเห็นผู้ค้าปลีก 5,000 รายแสดงให้เห็นว่า ยอดขายสินค้าที่ไม่ใช่อาหารในเดือน มี.ค.ร่วงลง 4% ซึ่งนับเป็นการปรับตัวลงมากที่สุดในรายเดือนในรอบกว่า 3 ปี
- นักลงทุนรอดูผลประชุมรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางจากกลุ่มประเทศ G-20 ซึ่งเปิดฉากแล้วเมื่อคืนนี้ในกรุงวอชิงตัน ซึ่งจะจัดขึ้นเป็นเวลา 2 วัน โดยคาดว่าญี่ปุ่นจะหาทางสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายผ่อนคลายทางการเงินเชิงรุก เพื่อรับมือความวิตกกังวลเกี่ยวกับการอ่อนค่าอย่างหนักของเงินเยน และผลกระทบเชิงลบที่อาจเกิดขึ้นในเศรษฐกิจประเทศอื่นๆ และคาดว่าสมาชิกกลุ่ม G-20 โดยรวมจะแสดงจุดยืนว่าจะเลี่ยงการปรับลดค่าเงินเพื่อการแข่งขัน และไม่กำหนดเป้าหมายอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อวัตถุประสงค์ในเชิงแข่งขัน ตามที่เห็นพ้องกันในการประชุมที่กรุงมอสโกเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา
- ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ได้ติดตามสถานการณ์ภาวะอสังหาริมทรัพย์ที่ขยายตัวรวดเร็วอย่างใกล้ชิด โดยมีการสอบถามผู้ประกอบการอสังหาฯถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น "ยอมรับว่ามีบางโครงการที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าอาจมีการเก็งกำไร แต่ข้อมูลยังไม่ชัดเจน ธปท.กำลังติดตามดูอยู่
- สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) หวั่นบาทแข็งกระตุกส่งออกวูบ ชี้แข็งค่าเฉลี่ย 28 บาท/ดอลลาร์ ทำมูลค่าหาย 5.7 แสนล้าน ฉุดจีดีพีอุตสาหกรรมโตแค่ 1.5-2.5% ทำดัชนีเชื่อมั่นมีนาฯดิ่งต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ชง ครม. 23 เมษาฯ คลอดแพคเกจช่วยเอสเอ็มอี สศช.เผยนายกฯห่วง จี้พาณิชย์ปรับแผนการตลาด
- สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผย ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ระดับที่ 99.3 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำสุดในรอบ 18 เดือนนับจากเดือน ก.ย. 54 ที่อยู่ระดับ 94 เนื่องจากผู้ประกอบการแสดงความกังวลการแข็งค่าของเงินบาทไทย รวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองในอนาคต
- นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ส่งสัญญาณพบการเก็งกำไรค่าเงินบาทแล้ว สั่งจับตานักลงทุนนำเงินตราต่างประเทศเข้ามาเก็งกำไรอย่างใกล้ชิด พร้อมเตือนผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายระวังความเสี่ยง เหตุค่าเงินผันผวนหนัก ขณะที่ยอมรับ เป็นห่วงสถานการณ์เงินบาทแข็งโป๊ก ทุกภาคการส่งออกไทยโตไม่ถึงเป้า 9%