ทั้งนี้ รัฐบาลพร้อมทำให้เกิดความยืดหยุ่นในการร่วมมือกับภาคเอกชน แต่เนื่องจากรัฐบาลได้ดำเนินการลดการขาดดุลทางการคลังในช่วง 5 ปีข้างหน้า จึงต้องหันมาใช้แนวทางกู้เงินในประเทศที่มีสภาพคล่องล้นระบบในขณะนี้ ซึ่งการเสนอให้ออกเป็น พ.ร.บ.เพื่อให้โครงการสานต่อไปให้สำเร็จแม้จะผ่านไปกี่รัฐบาลก็ตาม แต่ก็ยอมรับว่าแม้โครงการจะขาดทุนในช่วงแรก เพราะรัฐบาลอาจต้องชดเชยค่าโดยสารบางส่วน แต่จะทำให้เกิดการประหยัดเวลาในการเดินทางทั้งผู้โดยสารและการขนส่งสินค้า
นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า การประเมินความคุ้มค่าของโครงการด้านเศรษฐกิจ จะลงทุนตามร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท จะดำเนินการอย่างรอบคอบ โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์)จะติดตามดูถึงความคุ้มค่าของโครงการลงทุนทุกโครงการ ซึ่งหากพบว่าไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนในอนาคตก็สามารถปรับเปลี่ยนได้ แต่ต้องตอบคำถามสังคมให้ได้ถึงเหตุผลในการปรับเปลี่ยน
ทั้งนี้ การลงทุน 2 ล้านล้านบาท ที่รัฐบาลเลือกลงทุนด้านคมนาคมขนส่งเป็นหลัก เพราะเป็นโครงการที่ทำให้เศรษฐกิจขยายตัว ส่วนการลงทุนด้านสังคม สาธารณสุขไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจโต รัฐบาลจึงเลือกการลงทุนในส่วนนี้เพื่อให้ประเทศมีรายได้มากขึ้นและมีเงินไปลงทุนในด้านอื่นต่อไป
นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า การกู้เงินที่จะมีภาระการชำระหนี้ 50 ปี มีภาระดอกเบี้ย 5% ต่อปี ผ่านการคิดที่ใช้ความระมัดระวังมากแล้ว โดยขณะนี้พบว่าการออกพันธบัตรกู้เงิน 50 ปี มีอัตราดอกเบี้ย 4.38% แต่การกู้เงินระยะสั้น 3-10 ปีจะมีอัตราดอกเบี้ยราว 2.78-3% ซึ่งต่ำกว่าที่ประเมินไว้ ทำให้รัฐบาลเชื่อว่าจะสามารถชำระหนี้ได้โดยไม่มีปัญหา โดยเริ่มชำระหนี้เงินต้นในปีที่ 11 จะชำระ 2 หมื่นล้านบาทและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆในปีที่ 50
เหตุที่เลือกกู้เงินในประเทศทั้งหมด เพราะสภาพคล่องในประเทศมีมาก ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แบกภาระการดูดสภาพคล่องตอนนี้ 3 ล้านล้านบาท เสียดอกเบี้ยจำนวนมาก แต่เงินที่ดูดไปนั้นเอาไปทำประโยชน์อะไรไม่ได้เลยรัฐบาลก็จะไปเอาเงินส่วนนี้ซึ่งมีต้นทุนอยู่แล้วเพื่อนำมาลงทุน
“ความจริงตั้งใจทำงานสุดความสามารถ อยู่ให้ครบ 105 ปี แล้วจะรอดูบาทสุดท้ายที่มีการชำระ"นายกิตติรัตน์ กล่าว
ด้านนายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรมว.คลัง กล่าวว่า การกู้เงิน 2 ล้านล้านบาทควรกู้ในระบบงบประมาณ เพราะการกู้เงินนอกงบประมาณทำให้ตรวจสอบยากและไม่โปร่งใส ซึ่งในฐานะที่เป็นฝ่ายค้านก็ไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้อย่างเต็มที่
ทั้งนี้ รัฐบาลควรนำเงินดังกล่าวไปลงทุนในด้านการศึกษาและด้านสาธารณสุขที่จะมีส่วนในการพัฒนาของประเทศอย่างยั่งยืน แต่ใน พ.ร.บ.2 ล้านล้านบาท กลับไปลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงถึง 9 แสนล้านบาท และยังไม่สามารถตอบโจทย์ว่าจะช่วยลดต้นทุนการขนส่งได้อย่างไร เพราะรถไฟความเร็วสูงเน้นการเดินทางของคน และไม่เอื้อต่อผู้ที่มีรายได้น้อย และไม่ใช่เพื่อการขนส่งสินค้า
นายกรณ์ กล่าวว่า เมื่อมองในจุดคุ้มทุน ยกตัวอย่างเช่น ค่าโดยสารรถไฟฟ้า กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ค่าโดยสารเบื้องต้น 2,000 บาท มองว่าคนมีรายได้น้อยคงได้ใช้บริการลำบาก และจากการคำนวณเบื้องต้นแม้จะส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตเพิ่มขึ้น 1% จากอัตราปกติ จะมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจเพียง 50% ของวงเงินลงทุน และรัฐบาลยังต้องชดเชยค่าโดยสารในช่วงแรกหลายปี หรืออาจทำให้ขาดทุนประมาณ 20,000-25,000 ล้านบาทต่อปี
ดังนั้น รัฐบาลควรเลือกสร้างเส้นทางโครงการรถไฟความเร็วสูงเพียง 1 เส้นทางก่อนแล้วประเมินถึงความคุ้มค่าว่าเป็นอย่างไร และควรนำเงินไปลงทุนก่อสร้างรถไฟทางคู่และมอเตอร์เวย์ควบคู่กัน เพราะเส้นทางทางถนนสามารถเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านได้ง่ายกว่า ซึ่งปัจจุบันการพัฒนารถไฟรางคู่ยังไม่ถึง 10% ด้วยซ้ำ และเป็นสิ่งที่ดำเนินการได้ง่ายกว่า