ทั้งนี้ จากการติดตามสถานการณ์ผลผลิตลิ้นจี่ภาคเหนือและผลไม้ภาคตะวันออกที่จะออกสู่ตลาด พบว่า ผลผลิตลิ้นจี่ใน 4 จังหวัดภาคเหนือปีนี้จะมีปริมาณ 52,550 ตัน ซึ่งลดลงจากปีที่แล้ว โดยผลผลิตจะออกในช่วงเดือนเมษายน - กรกฎาคม และจะออกสู่ตลาดมากในเดือนพฤษภาคมประมาณ 31,000 ตัน หรือร้อยละ 60.16 ของผลผลิตลิ้นจี่ทั้งหมด ขณะที่ผลไม้ภาคตะวันออก ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง ในปีนี้ใน 3 จังหวัดภาคตะวันออกจะมีผลผลิตรวมทั้งสิ้น 766,423 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 7 ซึ่งจะกระจุกตัวในช่วงปลายพฤษภาคม - มิถุนายน
สำหรับผลผลิตลำไยในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือปีนี้ที่คาดว่าจะมีผลผลิต 642,630 ตัน เพิ่มจากปีที่แล้วประมาณร้อยละ 5.28 แบ่งเป็นในฤดู 507,570 ตัน และนอกฤดูประมาณ 135,060 ตัน และคาดว่าผลผลิตลำไยจะออกสู่ตลาดมากในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม - สิงหาคม 2556 ที่ประชุมได้เห็นชอบโครงการป้องกันแก้ไขปัญหาลำไยปี 2556 เพื่อเสนอขอสนันสนุนงบประมาณจาก คชก. จำนวน 215 ล้านบาท โดยมี 3 มาตรการสำคัญ คือ 1.กระจายผลผลิตออกนอกแหล่งผลิต 36,400 ตัน 2.ส่งเสริมการแปรรูปลำไยอบแห้งทั้งเปลือกและลำไยอบแห้งสีทองเป้าหมาย 93,250 ตัน 3.ประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการบริโภคลำไยในประเทศ โดยมีเป้าหมายผลผลิตลำไย 129,670 ตัน
นายยุคล ยังได้เน้นย้ำที่ประชุมให้ใช้ข้อมูลโซนนิ่งการปลูกผลไม้ในแต่ละพื้นที่เพื่อสร้างให้เกิดกลไกตลาดในพื้นที่ โดยพิจารณาว่าพื้นที่ใดที่มีจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดมากและจะส่งผลกระทบกับราคาก็ต้องเร่งประสานกับพาณิชย์จังหวัดในการระบายผลผลิตออกนอกพื้นที่ให้เร็วที่สุด ขณะเดียวกันยังมอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมส่งเสริมสหกรณ์ ประชุมร่วมกับโมเดิร์นเทรดให้เข้าร่วมโครงการกำหนดช่วงระยะเวลาและปริมาณการรับซื้อผลผลิตผลไม้จากเกษตรมาจำหน่ายถึงผู้บริโภคโดยตรง ซึ่งจะทำให้สามารถคาดการณ์ผลผลิตส่วนเกินได้อีกทางหนึ่งด้วย
พร้อมกันนี้ กระทรวงเกษตรฯ จะเร่งเจรจาเปิดตลาดส่งออกผลไม้ใหม่ๆ เพิ่มขึ้น รวมถึงตลาดส่งออกผลไม้หลักของไทย ได้แก่ จีน และอินโดนีเซีย ที่ยังคงมีความสนใจบริโภคผลไม้ไทย ซึ่งจากผลการเจรจาแก้ไขปัญหาการส่งออกผลไม้ไทยไปประเทศอินโดนีเซียล่าสุด ขณะนี้ประเทศอินโดนีเซียได้จัดสรรโควตาปริมาณการนำเข้าพืชสวนของไทยในช่วงครึ่งปีแรก(ม.ค - มิ.ย.) เรียบร้อยแล้ว ได้แก่ ลำไย 2 หมื่นตัน และหอมแดงจำนวน 6.5 หมื่นตัน โดยโควต้าการส่งออกดังกล่าวจะสิ้นสุดในเดือนมิถุนายนนี้
อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้ประเทศไทยยังสามารถส่งออกทุเรียนเข้าไปยังประเทศอินโดนีเซียได้ แต่ต้องส่งไปในลักษณะทุเรียนแช่แข็ง ทุเรียนอบแห้งที่ผ่านการแปรรูป ส่วนในช่วงครึ่งปีหลังได้มอบหมายให้ มกอช. เร่งเสนอรายละเอียดปริมาณความต้องการส่งออกลำไย และทุเรียนไปยังอินโดนีเซียในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้ เพื่อให้ทันต่อผลผลิตที่จะออกสู่ตลาด