นักบริหารเงินจากธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้อยู่ที่ระดับ 28.60/62 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งเป็นนิวโลว์ในรอบ 16 ปี โดยปรับตัวแข็งค่าจากช่วงเช้าที่ระดับ 28.71.73 บาท/ดอลลาร์ ตามแรงหนุนจากเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศ
"เงินบาทปรับตัวแข็งค่าทำนิวโลว์ โดยมีปัจจัยสำคัญจาก capital inflow มากกว่าเรื่องอื่น" นักบริหารเงิน กล่าว
นักบริหารเงินประเมินการเคลื่อนไหวของเงินบาทสัปดาห์หน้าไว้ในกรอบระหว่าง 28.50-28.90 บาท/ดอลลาร์
*ปัจจัยสำคัญ
- เงินเยนอยู่ที่ระดับ 99.21/23 เยน/ดอลลาร์ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับ 98.15/20 เยน/ดอลลาร์
- เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.3090/3093 ดอลลาร์/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าจากระดับ 1.3054/3057 ดอลลาร์/ยูโร
- ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,545.46 จุด เพิ่มขึ้น 15.70 จุด, +1.03% มูลค่าการซื้อขาย 58,536.59 ล้านบาท
- สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติขายสุทธิ 740.19 ล้านบาท(SET+MAI)
- ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) รายงานตัวเลขทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของไทย วันที่ 12 เม.ย.อยู่ที่ 177.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 5,157.3 พันล้านบาท จากวันที่ 5 เม.ย.56 อยู่ที่ 178.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 5,213.8 พันล้านบาท ขณะที่ฐานะฟอร์เวิร์ดสุทธิของไทย วันที่ 12 เม.ย.อยู่ที่ 23.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับวันที่ 5 เม.ย.56 อยู่ที่ 23.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
- นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ยอมรับว่ามีความคิดอยากปลดผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เนื่องจากแนวทางการทำงานในเรื่องนโยบายอัตราดอกเบี้ยมีความเห็นที่แตกต่างกัน ซึ่งส่วนตัวอยากเห็นทาง ธปท.ปรับลดดอกเบี้ยลงมาอีกราว 1% เพราะอัตราดอกเบี้ยในขณะนี้ถือว่าสูงเกินไป ซึ่งสภาพคล่องที่มีควรดำเนินการให้เหมาะสมและคำนึงถึงผลประโยชน์กับประเทศ เนื่องจากเงินบาทแข็งค่ามอย่างหนักและสร้างผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย
- นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มอบนนโยบายให้กระทรวงพาณิชย์ และกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเร่งปรับแผนการทำงานใหม่เพื่อกระตุ้นการส่งออกในช่วงไตรมาส 3 และ ไตรมาส 4 ของปีนี้ ให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น เพื่อรักษาเป้าหมายมูลค่าการส่งออกให้เติบโตได้ที่ 8-9% หรือมูลค่าประมาณ 250,000-260,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
- นางคริสติน ลาการ์ด ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้กล่าวชื่นชมการใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินครั้งล่าสุดของธนาคารกลางญี่ปุ่นว่าเป็น "การดำเนินการที่เหมาะสม" พร้อมกับเรียกร้องให้ญี่ปุ่นเพิ่มความพยายามในการปรับลดหนี้สาธารณะจำนวนมากลงและกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
- นายธาร์มัน ชานมูการัตนัม รมว.คลัง สิงคโปร์ และประธานคณะกรรมการด้านการเงินระหว่างประเทศของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) ชี้วิกฤตการจ้างงานทั่วโลกเป็นอุปสรรคที่รุนแรงที่เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญอยู่ ขณะที่ยังไม่เห็นทางออกสำหรับผู้ตกงานจำนวนหลายล้านคนทั่วโลก โดยข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป หรือยูโรสแตท ระบุว่า อัตราว่างงานของคนหนุ่มสาวในยูโรโซนแตะ 23.9% ในเดือน มี.ค. ขณะอัตราว่างงานของคนหนุ่มสาวในประเทศที่เศรษฐกิจตกต่ำมากอย่างกรีซและสเปนยังอยู่ที่กว่า 50% ส่วนสำนักงานสถิติแรงงานสหรัฐระบุว่าอัตราว่างงานของผู้จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายในสหรัฐ อยู่ในระดับสูงที่ 34.4% เมื่อเทียบกับ 17.5% ในปี 2550 ก่อนจะเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ แม้อัตราว่างงานของผู้จบมหาวิทยาลัยจะอยู่สูงกว่าอัตราว่างงานทั่วประเทศอยู่เพียงเล็กน้อย
- นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นกล่าวว่า กลุ่มประเทศสมาชิก G-20 เข้าใจในเรื่องการใช้มาตรการกระตุ้นด้านเงินตราของญี่ปุ่น พร้อมกับคาดว่า คงจะไม่มีฝ่ายใดคัดค้านเรื่องที่เงินเยนอ่อนค่าลง