เนื่องจาก จ.หนองคาย เป็นเมืองเศรษฐกิจชายแดนที่เชื่อมต่อประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ในอนาคตจะมีรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หนองคาย เชื่อมต่อกับรถไฟความเร็วสูงของประเทศจีน ที่ผ่านมายังนครหลวงเวียงจันทน์ ประเทศลาว โดยเชื่อมต่อกันที่สะพานข้ามแม่น้ำโขง จ.หนองคาย
"ประเทศไทยขาดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสำคัญมานานกว่า 10 ปีแล้ว งบประมาณประจำปีส่วนใหญ่เป็นเงินเดือน ส่วนที่จัดสรรก่อสร้างหรือปรับปรุงถนนปีหนึ่งทำได้เพียง 5 กิโลเมตร จึงต้องกู้เงินมาพัฒนาระบบขนส่ง ทั้งการขยายถนน โครงการรถไฟรางคู่ 3 โครงการ คือ สายจิระ-หนองคาย สายชุมทางถนนจิระ- อุบลราชธานี ,สายบ้านไผ่-นครพนม และการพัฒนารถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา
ในอนาคตจะขยายเส้นทางจนถึง จ.หนองคาย ภายในปี 63 รวมถึงโครงข่ายทางหลวงเชื่อมโยงระหว่างประเทศ 7 โครงการ 5 จังหวัด ได้แก่ บึงกาฬ นครพนม ศรีสะเกษ หนองคาย สุรินทร์ โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา โครงการบูรณะทางหลวงสายหลักระหว่างภาค 18 โครงการ 4 จังหวัด ได้แก่ หนองคาย ขอนแก่น อุดรธานี และนครราชสีมา"นายชัชชาติ กล่าว
ทั้งนี้ รวมถึงการลงทุนสถานีขนส่งสินค้าและศูนย์กระจายสินค้า เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางและการขนส่งสินค้าจากในประเทศ เชื่อมต่อกับโครงข่ายประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี ส่งเสริมให้การค้าระหว่างประเทศขยายตัวมากขึ้น ทำให้ในอนาคตหนองคายจะเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ และเป็นศูนย์กลางของการกระจายสินค้าในภูมิภาคนี้
สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเป็นที่สนใจของคนไทย รัฐบาลกำหนดไว้ 4 สายทาง 1,447 กิโลเมตร ผ่าน 24 จังหวัด ขบวนวิ่ง 200 เที่ยวต่อวัน ผู้โดยสาร 40 ล้านเที่ยวต่อปี โดยสายที่ 1 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ-ชลบุรี-พัทยา-ระยอง สายที่ 2 กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ สายที่ 3 กรุงเทพฯ นครราชสีมา และสายที่ 4 กรุงเทพฯ-หัวหิน คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2565 ส่วนรถไฟทางคู่นั้น ปี 2563 จะเพิ่มรถไฟทางคู่ 2,859 กิโลเมตร เพิ่มโครงข่ายจาก 47 จังหวัดเป็น 53 จังหวัด
ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-หนองคาย รมว.คมนาคม ระบุว่า ระยะแรกจะก่อสร้างมาถึงจังหวัดนครราชสีมา จากนั้นจะขยายระยะที่ 2 ถึงหนองคาย เพื่อเชื่อมต่อสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและจีน
นายชัชชาติ ระบุถึงประเด็นปัญหาที่หลายคนสงสัยว่าการกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท จะทำให้คนไทยเป็นหนี้ 50 ปีว่า เรื่องนี้ต้องดูจากตัวเลขผลผลิตมวลรวมในประเทศ(GDP)ประมาณ 11 ล้านล้านบาท รัฐบาลกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ถือว่าไม่สูงเมื่อเทียบกับตัวเลข GPD และโครงการพัฒนาระบบขนส่งใช้เวลา 7 ปี เฉลี่ย 1 ปีใช้งบประมาณ 3 แสนล้านบาท ดังนั้น อัตราการเป็นหนี้ไม่สูงเหมือนที่กังวล
ส่วนความคุ้มทุนนั้น ยืนยันว่า การกู้เงินมาลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน มีผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจกลับคืนมา เช่น การลงทุนระบบรถไฟความเร็วสูงร้อยละ 80 เป็นการลงทุนในประเทศ อีกร้อยละ 20 เป็นการจัดซื้อขบวนรถจากต่างประเทศ ส่วนการลงทุนทางถนน เป็นการลงทุนภายในประเทศทั้งหมด มีการจ้างงาน ทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียน ทุกโครงการมีแผนงานนำเสนอ ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ ไม่ต้องกลัวว่าจะทุจริตคอรัปชั่น