เงินบาททำ New low ที่ 28.56/57 คาดสัปดาห์นี้ทดสอบระดับ 28.50 บาท

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 22, 2013 09:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงินจากธนาคารซีไอเอ็มบีไทย เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ที่ระดับ 28.60/62 บาท/ดอลลาร์ ทรงตัวจากช่วงปิดตลาดเมื่อเย็นวันศุกร์ แต่ล่าสุดเงินบาทไปทำ New low ที่ระดับ 28.56/57 บาท/ดอลลาร์
"ทิศทางวันนี้บาทคงแข็งค่าต่อ เพราะยังมีแรงขาย(ดอลลาร์) เพียงแต่วันนี้คงต้องดูว่าแบงก์ชาติจะเข้ามาแทรกแซงหรือไม่ แต่คงไม่ได้ถึงขนาดไล่ขึ้นมา อาจจะแค่ช่วยชะลอการลง โอกาสที่บาทจะเด้งขึ้นมีน้อย เต็มที่คงไม่เกิน 28.65 บาท/ดอลลาร์" นักบริหารเงิน กล่าว

ปัจจัยที่ต้องจับตา คือ ผลจากการประชุม G20 ที่ทำให้เงินเยนอ่อนค่าลงไปอีกเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ซึ่งหากเป็นเช่นนี้เงินทุนต่างชาติก็มีโอกาสเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น และเงินบาทยังมีแนวโน้มจะแข็งค่าขึ้น

นักบริหารเงิน คาดว่า วันนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 28.50-28.65 บาท/ดอลลาร์ โดยมองว่าสัปดาห์นี้เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าไปทดสอบที่ระดับ 28.50 บาท/ดอลลาร์

  • ปัจจัยสำคัญ
  • อัตราแลกเปลี่ยนบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคาร ธปท.วันนี้อยู่ที่ 28.6990 บาท/ดอลลาร์
  • เปิดตลาดเช้านี้ เงินเยนอยู่ที่ระดับ 99.85 เยน/ดอลลาร์
  • ส่วนเงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.3075 ดอลลาร์/ยูโร
  • สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินเยน ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อวันศุกร์ (19 เม.ย.) หลังจากที่ประชุม G20 ส่งสัญญาณว่าไม่ได้คัดค้านความพยายามของญี่ปุ่นในการกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศผ่านการผ่อนคลายทางการเงินในเชิงรุก
  • สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดเพิ่มขึ้นเป็นวันที่ 2 ติดต่อกันเมื่อวันศุกร์(19 เม.ย.) เนื่องจากนักลงทุนเข้ามาซื้อเก็งกำไร หลังจากที่ราคาทองได้ร่วงลงอย่างหนักในช่วงต้นสัปดาห์ นอกจากนี้ ราคาที่ถูกลงยังได้ช่วยกระตุ้นความต้องการทองคำจริง (physical demand) เพื่อนำไปทำเครื่องประดับหรือผลิตส่วนประกอบสินค้าอื่นๆ โดยสัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย.เพิ่มขึ้น 3.1 ดอลลาร์ หรือ 0.22% ปิดที่ 1,395.6 ดอลลาร์/ออนซ์
  • สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดปรับตัวขึ้นเมื่อวันศุกร์(19 เม.ย.) หลังจากที่ร่วงลงอย่างหนักในช่วงต้นสัปดาห์ โดยตลาดได้ปัจจัยบวกจากสกุลเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง และการดีดตัวขึ้นของตลาดหุ้นทั่วโลก

โดยสัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนพ.ค.เพิ่มขึ้น 28 เซนต์ หรือ 0.32% ปิดที่ 88.01 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนมิ.ย.ที่ตลาดลอนดอน เพิ่มขึ้น 52 เซนต์ หรือ 0.52% ปิดที่ 99.65 ดอลลาร์/บาร์เรล

  • ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวสูงขึ้นเช้านี้(22 เม.ย.) โดยได้รับแรงหนุนจากหุ้นกลุ่มบริษัทส่งออก เนื่องจากเงินเยนอ่อนตัวลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 4 ปีเมื่อเทียบเงินดอลลาร์สหรัฐ หลังจากที่นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางญี่ปุ่น(BOJ) ไม่ถูกคัดค้านในการประชุม G20
  • ที่ประชุมรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางกลุ่ม G-20 เมื่อคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา(19 เม.ย.) ยืนยันจะไม่ทำให้ค่าเงินของตนเองอ่อนตัวลงเพื่อการแข่งขัน เพื่อที่จะคลายความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบด้านลบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจประเทศเกิดใหม่อันเนื่องมาจากการผ่อนปรนเงินตราเชิงรุกของประเทศที่พัฒนาแล้ว
  • รมว.คลังของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจชั้นนำ 20 ประเทศ แสดงความเข้าใจกรณีที่ญี่ปุ่นดำเนินนโยบายผ่อนคลายการเงินในเชิงรุก ขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น(BOJ) ระบุจะดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินต่อไปจนกว่าจะบรรลุเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่ 2% ในระยะเวลาประมาณ 2 ปี
  • ทริสเรทติ้งชี้กลุ่มคอนโดมิเนียมแนวสูง-หนี้สูง มีโอกาสเกิด ฟองสบู่ หากภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศสะดุด หนุนแบงก์ชาติคลอด มาตรการดูแล รับแบรนด์ยักษ์ใหญ่อสังหา ในตลาดหลักทรัพย์บางรายโครงสร้างหนี้ล่อแหลม แต่ถูกกลบด้วยยอดขาย แนะนำกระแสเงินสดลดหนี้ ส่วนภาพรวมการออกหุ้นกู้ปีนี้ คาดโครงการ 2.2 ล้านล้าน หนุนกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง-อสังหาริมทรัพย์ระดมทุนมากขึ้น
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศตัวเลขธุรกิจบัตรเครดิตล่าสุดเดือน ก.พ. 2556 พบว่า ในระบบมียอดคงค้างสินเชื่อบัตรเครดิตทั้งสิ้น 2.14 แสนล้านบาท ลดลงจากเดือนก่อน 5,710 ล้านบาท ลดลง 2.33% ส่วนปริมาณบัตรเครดิตทั้งสิ้น 17.13 ล้านใบ เพิ่มขึ้นต่อเนื่องโดยเพิ่มขึ้น 1.03 แสนใบ หรือเพิ่มขึ้น 0.61% เทียบกับเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในส่วนของบริษัทที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นันแบงก์) 7.1 หมื่นบัญชีและที่เหลืออีก 3.21 หมื่นบัญชีเกิดจากธนาคารพาณิชย์
  • นายทนง พิทยะ อดีต รมว.คลัง ระบุว่า ค่าเงินบาทในปัจจุบันแข็งค่าจนเกินไป ที่ผ่านมาได้เคยสะท้อนปัญหาเหล่านี้ให้กับทางธปท.ได้รับทราบแล้ว

โดยส่วนตัวมองว่า กนง.ควรพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง โดยทยอยลดลงครั้งละ 0.25% เพื่อทดสอบตลาดว่าหากมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยแล้ว จะมีผลต่อค่าเงินบาทอย่างไรบ้างบาทแข็ง 1% ฉุดส่งออก 0.2-0.5%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ