โพลล์นักศศ.มองเศรษฐกิจไทยยังแข็งแกร่ง แต่ห่วงส่งออกหมดแรงขับเคลื่อน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 22, 2013 10:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) เปิดเผยผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์เรื่อง "ดัชนีความเชื่อมั่นนักเศรษฐศาสตร์ต่อเศรษฐกิจไทยใน 3-6 เดือนข้างหน้า" พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักเศรษฐศาสตร์ต่อสถานะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 56.68 จุด ลดลง 0.07 จุด แต่ยังอยู่ในระดับที่สูงกว่า 50 เป็นครั้งที่ 2 ติดต่อกันนับจากการสำรวจในเดือนม.ค.55 ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในสถานะแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง

โดยปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลัก 5 ปัจจัย พบว่า การบริโภคภาคเอกชนอยู่ที่ระดับ 68.10 ลดลงจากการสำรวจครั้งก่อน 0.87, การลงทุนภาคเอกชนอยู่ที่ระดับ 62.28 เพิ่มขึ้นจากการสำรวจครั้งก่อน 7.20, การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐอยู่ที่ระดับ 59.82 ลดลงจากการสำรวจครั้งก่อน 1.58, การส่งออกสินค้าอยู่ที่ระดับ 19.49 ลดลงจากการสำรวจครั้งก่อน 5.09 ขณะที่การท่องเที่ยวจากต่างประเทศ อยู่ที่ระดับ 73.73 เท่ากับการสำรวจในครั้งก่อน

"สถานะเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งได้รับผลดีจากปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 4 ใน 5 ปัจจัยที่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี ส่วนปัจจัยการส่งออกสินค้าเป็นปัจจัยเดียวที่ยังอยู่ในสถานะที่อ่อนแออย่างต่อเนื่องนับจากเดือนมกราคม 2555" เอกสารเผยแพร่ระบุ

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นนักเศรษฐศาสตร์ต่อเศรษฐกิจไทยในอีก 3 เดือนข้างหน้า พบว่าค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ อยู่ในระดับ 50.85และเมื่อมองออกไปในอีก 6 เดือนข้างหน้า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ อยู่ในระดับ 59.51 หมายความว่า นักเศรษฐศาสตร์มีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยในอีก 3-6 เดือนข้างหน้าจะยังคงปรับตัวดีขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปัจจุบัน โดยมีการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ และการลงทุนภาคเอกชนเป็นปัจจัยขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่สำคัญ

ทั้งนี้ การที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยในอีก 3 และ 6 เดือนข้างหน้าอยู่ในระดับที่สูงกว่า 50 แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มเศรษฐกิจของไทยที่สดใสอย่างต่อเนื่อง ยกเว้นภาคส่งออกที่ยังคงเป็นปัญหาโดยได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและค่าเงินบาทที่แข็งค่า

อนึ่ง ผลการสำรวจดังกล่าวมาจากความคิดเห็นของนักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรชั้นนำ 31 แห่ง จำนวน 60 คน โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 9-19 เม.ย.56


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ