"การจะใช้มาตรการบางครั้งต้องให้เวลาตลาดปรับตัว"นายไพบูลย์ กล่าว
ทั้งนี้ กรณีที่ผู้ว่าการ ธปท.ระบุว่าเงินบาทแข็งค่าเกินพื้นฐานเศรษฐกิจนั้น นายไพบูลย์ กล่าวว่า ยอมรับว่าเป็นเช่นนั้นเพราะเข้าสู่ระดับที่ต้องระมัดระวัง แต่คิดว่านักลงทุนและผู้ร่วมในตลาดต้องใช้ความระมัดระวัง
ส่วนจำเป็นที่จะต้องเรียกประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)นัดพิเศษหรือไม่นั้น นายไพบูลย์ ปฏิเสธที่จะตอบ แต่กล่าวว่า การประชุมมีกระบวนการที่ได้กำหนดไว้ภายใต้สถานการณ์ที่ต่างกันอยู่แล้ว และยืนยันว่าทุกอย่างมีกระบวนการรองรับ และธปท.ก็มีมาตรการที่พร้อมจะใช้อยู่แล้ว แต่ต้องขึ้นกับสถานการณ์ที่เหมาะสม
อย่างไรก็ตาม การที่เงินบาทแข็งค่ามาจากปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยมีความเข้มแข็งในระดับหนึ่ง ทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นจึงไม่น่าแปลกที่เงินบาทจะแข็งค่าขึ้นมาเกินพื้นฐาน
ส่วนความร้อนแรงของภาคอสังหาริมทรัพย์ที่อาจส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ รวมถึงการประมาณการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจในปีนี้นั้น นายไพบูลย์ กล่าวว่า กนง.ได้พิจารณาปัจจัยที่เป็นสมมติฐานซึ่งมีผลต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจไว้แล้ว ทั้งบาทแข็งค่าและการขยายตัวของสินเชื่อครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่อเสถียรภาพการเงิน
นายไพบูลย์ กล่าวอีกว่า ยืนยันว่าอัตราดอกเบี้ยยังเอื้อต่อการขยายตัวของสินเชื่อและการขยายตัวของเศรษฐกิจ และที่ผ่านมาพบว่าภาคเอกชนมีการดูแลตัวเองมากขึ้น และทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้นประมาณ 60% ของผู้ส่งออก