(เพิ่มเติม) คลาสสิก โกลด์ฯ คาดทองวูบต่อเนื่อง ปีนี้อาจแตะ 15,700 บ.เชื่ออีก 2 ปีฟื้น

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 22, 2013 13:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ณัฐฑี จุฑาวรากุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คลาสสิก โกลด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด คาดว่า ตลอดทั้งปีนี้ราคาทองคำจะขึ้นสูงสุดอยู่ที่ 1,650 ดอลลาร์/ออนซ์ หรือ 22,500 บาท และราคาต่ำสุดอยู่ที่ 1,158 ดอลลาร์/ออนซ์ หรือ 15,700 บาท โดยกรอบราคาครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย. 56) คาดว่าจะอยู่บริเวณ 1,158—1,550 ดอลลาร์/ออนซ์ หรือ 15,700-21,100 บาท
"ราคาทองคำจะสามารถกลับขึ้นไปที่ 1,700 และ 1,900 อาจใช้เวลา 1—2 ปี ขึ้นอยู่กับว่าราคาจะปรับฐานขาลงเร็วแค่ไหน หากราคาร่วงลงมาแตะแนวรับระยะยาวระดับ 1,158—1,200 อาจพบแรงซื้อกลับ และราคาอาจจะดีดกลับขึ้นได้แรงและเร็ว"น.ส.ณัฐฑี กล่าว

ในช่วงวันหยุดสงกรานต์ที่ผ่านมา (12-16 เม.ย.) ราคาทองคำปรับลดลงอย่างรุนแรงกว่าที่คาดการณ์ เนื่องจากมีข่าวว่าทางไซปรัสจะขายทองคำที่เป็นสินทรัพย์สำรองของประเทศออกมาเพื่อชำระหนี้ ประกอบกับ ธนาคารกลางชาติอื่นๆ ในยุโรปมีแนวโน้มที่จะขายทองคำออกมาเช่นกัน และยังมีการปรับลดการคาดการณ์ราคาทองคำของหลายสถาบันทางการเงินและการขายอย่างต่อเนื่องของกองทุน SPDR ทำให้ตลาดสูญเสียความเชื่อมั่น

และ เมื่อราคาทองคำหลุดแนวรับที่สำคัญที่บริเวณ 1,525 ดอลลาร์/ออนซ์ ทำให้เกิด panic sell ส่งผลให้ราคาทองคำปรับลดลงอย่างรุนแรง โดยปิดตลาดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาอยู่ที่ 1,400.91 ดลลาร์/ออนซ์ หรือราคาสมาคมผู้ค้าทองคำอยู่ที่บาทละ 19,250 บาท

แนวโน้มราคาทองคำในระยะกลางยังเป็นขาลง โดยขณะนี้เริ่มชะลอตัวเหนือแนวรับ 1,300 ดอลลาร์/ออนซ์ หากราคาทองคำสามารถ rebound กลับขึ้นไปทดสอบที่ระดับ 1,440 ดอลลาร์/ออนซ์แล้วไม่สามารถผ่านขึ้นไปได้ ก็มีแนวโน้มที่จะปรับลดลงหลุด 1,300 ดอลลาร์/ออนซ์ในระยะถัดไป ซึ่งอาจจะลดลงได้อีก 50-100 ดอลลาร์/ออนซ์

น.ส.ณัฐฑี กล่าวว่า ความรู้สึกโดยรวมของนักลงทุนต่อตลาดทองคำยังไม่ดีนัก และแม้ว่าจะเข้าเทศกาล Akshaya Tritiya ของอินเดีย ซึ่งเป็นเทศกาลซื้อทองในช่วงเดือนหน้าก็ไม่ได้มีแรงซื้อกลับเข้ามาเท่าที่ควร ซึ่งเป้าหมายการปรับลงของราคาทองคำยังอยู่ที่ระดับ 1,158-1,250 ดอลลาร์/ออนซ์ และการแข็งค่าของเงินบาทมีแนวโน้มให้ราคาทองบ้านเราปรับลดลงกว่าที่ควรจะเป็น โดยมองว่าเงินบาทที่แข็งค่าทุกๆ 1 สตางค์ จะกดดันราคาทองลดลง 7-8 บาท ถ้า 10 สตางค์จะกดดันราคาทองลดลง 80 บาท และถ้าเงินบาทแข็งค่าขึ้น 1 บาทก็จะกดดันราคาทองลดลง 800 บาท และหากเงินบาทแข็งค่าขึ้น 2 บาทก็จะกดดันราคาทองลดลง 2,000 บาท

จากราคาทองที่ลดลงและค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ทำให้ภาพรวมในระยะกลางมองว่าทิศทางทองคำยังเป็นขาลง โดยได้ประมาณการณ์กรอบในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่ 1,365-1,450 ดอลลาร์/ออนซ์ หรือราคาในประเทศที่ 18,600-19,500 บาท โดยมองว่าแนวต้านที่ระดับ 1,440-1,450 ดอลลาร์/ออนซ์ยังเป็นแนวต้านที่สำคัญ

"การปรับขึ้นของราคาทองคำก็มีแนวต้านอยู่หลายจุด ฉะนั้นถ้าราคาทองคำไม่สามารถผ่าน 1,440-1,450 ดอลลาร์/ออนซ์ ก็มีโอกาสที่ราคาจะปรับตัวลดลงแรงอีกครั้ง และโอกาสลงมาแตะระดับ 1,300 ดอลลาร์/ออนซ์ยังมีอยู่มาก ถ้าสามารถผ่าน 1,440 ดอลลาร์/ออนซ์ขึ้นไปได้ก็มีโอกาสรีบาวด์ขึ้นไปแรงเช่นเดียวกัน เรามองว่าถ้าผ่าน 1,450 ดอลลาร์/ออนซ์ไปได้โอกาสที่จะไปทดสอบจะอยู่ที่ 1,500 ดอลลาร์/ออนซ์ หรือ 20,000 บาท แต่ก็ยังถือว่าภาพโดยรวมปัจจัยที่กดดันต่อราคาทองคำยังมีอยู่มาก และโอกาสที่จะมีแรงขายอีกครั้งก็ยังมีอยู่มากเช่นเดียวกัน"น.ส.ณัฐฑี กล่าว

น.ส.ณัฐฑี กล่าวว่า สำหรับนักลงทุนระยะยาว แนะนำว่าขณะนี้ยังไม่ใช่จังหวะที่ดีในการซื้อ เนื่องจากราคายังมีโอกาสร่วงลงมาได้อีก ควรเป็นการซื้อขายระยะสั้น และถ้าราคาหลุดแนวรับ 1,300 ดอลลาร์/ออนซ์ควรขายออกมาเพื่อปิดความเสี่ยงและรอซื้อกลับเมื่อราคาเข้าใกล้แนวรับ 1,200-1,250 อีกครั้ง ขณะที่นักลงทุนที่ถือทองไว้ในระดับสูง หากเป็นเงินเย็นสามารถถือได้ต่อ เนื่องจากในระยะยาวเมื่อทองคำปรับฐานเรียบร้อยก็เชื่อว่าจะกลับมาขึ้นอีกรอบ แต่หากต้องการขาย ก็สามารถรอขายเมื่อราคาทองเข้าทดสอบแนวต้าน 1,440 อีกครั้ง ซึ่งหากราคาไม่ผ่านอาจกดดันให้ปรับลดลงมาแรงอีกรอบ เมื่อถึงเวลานั้นค่อยกลับเข้ามาซื้อในราคาที่ต่ำกว่าเดิม เพื่อเป็นการปรับพอร์ตการลงทุน

สำหรับในระยะสั้นจากการที่ราคาทองลดลงต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี เป็นเหตุจูงใจให้มีแรงซื้อจำนวนมาก แรงขายที่ชะลอตัวจะทำให้เกิดสัญญาณการซื้อและการดีดกลับทางเทคนิค เนื่องจากนักลงทุนระยะสั้นจะเข้าซื้อเพิ่มเก็งกำไร ส่วนนักลงทุนที่เทขายก่อนหน้านี้ก็จะซื้อคืน หรือ cover short position เพียงแต่ราคามีแนวโน้มจะผันผวนตามลักษณะการเก็งกำไร การปรับตัวขึ้นของราคาจึงถูกจำกัดไว้ ทำให้โอกาสการขึ้นไปแตะระดับ 1,700 ดอลลาร์/ออนซ์ในระยะสั้นจึงเป็นไปได้ยาก

ส่วนระยะกลางถึงยาว ความต้องการถือครองทองคำในแต่ละปีมีมากกว่าปริมาณทองคำใหม่ที่เหมืองผลิตได้ และระดับราคาต่ำกว่าที่ผ่านมาจะลดแรงจูงใจให้มีการนำทองเก่ามาขายหรือรีไซเคิลน้อยลง ในขณะที่กำลังการผลิตทองคำแทบไม่เหลือเลย แต่ทองคำยังคงเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญในอุตสาหกรรมบางประเภทและด้วยเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ทำให้ประชาชนมีอำนาจซื้อเพิ่มขึ้น จึงเป็นแรงผลักดันราคาทองคำให้ปรับตัวสูงขึ้นได้ในอนาคต

พร้อมกันนี้ด้วยสถานการณ์ราคาทองคำ ณ ปัจจุบันค่อนข้างมีความผันผวนมาก นักลงทุนจำเป็นต้องติดตามข้อมูลข่าวสาร บทวิเคราะห์อย่างใกล้ชิด เพื่อลดความเสี่ยงในการลงทุน โดยปัจจัยที่จะทำให้ราคาทองปรับขึ้น คือ ความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี หากมีความขัดแย้งรุนแรงจนเกิดสงครามและบานปลายเป็นวงกว้างจะส่งผลต่อเศรษฐกิจของทั้งจีนและญี่ปุ่น แต่โอกาสที่จะเกิดสถานการณ์ดังกล่าวมีไม่มากนัก รวมทั้ง แนะนักลงทุนติดตามการทำ Shot covering ของนักลงทุนรายใหญ่ ,การเข้าซื้อทองคำของตลาดหลังจากราคาปรับตัวลดลง 20% ตั้งแต่ต้นปี ซึ่งต้องดูว่าความต้องการจะช่วยซับพอร์ตยันให้ราคาทองคำปรับตัวเป็นขาขึ้นได้มากน้อยแค่ไหน หากมีแรงซื้อที่ชัดเจนก็อาจจะทำให้ราคาทองเป็นขาขึ้น โดยสังเกตุได้จากตลาดหุ้นที่เมื่อใดมีสัญญาณขาย ทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวลง ก็อาจจะเป็นจุดหนึ่งที่นักลงทุนต้องการโยกย้ายเงินออกมาลงทุนในทองคำอีกครั้ง รวมถึงเรื่องภาวะหนี้สินของสหรัฐ (Fisical Cliff)ที่ยังมีภาวะหนี้ที่อยู่ในระดับสูงอาจทำให้นักลงทุนกลับเข้ามาซื้อทองคำได้ อีกทั้งค่าเงินบาทที่ผันผวนมากๆ ก็อาจจะมีแรงซื้อทองคำกลับมาเพื่อปิดความเสี่ยงทางด้านค่าเงินได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ