คลัง ร่วมประชุม Spring Meetings เน้นแก้ปัญหายากจน-ส่งเสริมการเติบโตทางศก.

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 22, 2013 15:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนกระทรวงการคลัง กล่าวถึงผลการประชุมธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(Spring Meetings)และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 17-22 เม.ย.56 ว่า การประชุมคณะกรรมการพัฒนาการของธนาคารโลก(The Meeting of the Development Committee)ครั้งที่ 87 ได้หารือในด้านการกำหนดวิสัยทัศน์การทำงานของกลุ่มธนาคารโลก (Common Visions)ระยะ 5 ปีข้างหน้า เพื่อบรรลุเป้าหมายสองประการ คือ การหยุดยั้งปัญหาความยากจน และส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและรายได้โดยเน้นกลุ่มประชากรที่มีรายได้น้อยที่สุด

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เห็นพ้องว่าภาคเอกชนจะมีบทบาทสำคัญต่อการจ้างงานและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ส่งเสริมผลสำเร็จของเป้าหมาย ในขณะเดียวกัน ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(Climate Change)เป็นประเด็นที่ท้าทายต่อการบรรลุเป้าหมายที่ต้องให้ความสำคัญ

อีกทั้ง ที่ประชุมเห็นชอบการกำหนดแนวทาง 5 ด้านของการวางยุทธศาสตร์ของธนาคารโลกและการดำเนินงานอย่างบูรณาการระหว่างกลุ่มธนาคารโลกและประเทศสมาชิกเพื่อบรรลุเป้าหมายการหยุดยั้งปัญหาความยากจนและส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและรายได้โดยเน้นกลุ่มประชากรที่มีรายได้น้อยที่สุด โดยแนวทางการดำเนินงาน 5 ด้าน ได้แก่ การมุ่งแก้ไขปัญหาการความยากจนในทุกพื้นที่ทั่วโลก, การทำงานประสานกันของกลุ่มธนาคารโลกให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันเพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศสมาชิกอย่างทั่วถึง, การแบ่งกลุ่มลูกค้าให้เหมาะสมและให้บริการได้ตรงตามความต้องการ, การแก้ไขปัญหาอย่างมีพัฒนาการและมุ่งผลสัมฤทธิ์ และการพัฒนาโดยคำนึงถึงความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลก

ที่ประชุมเห็นชอบต่อการกำหนดเป้าหมายยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนด้วยการปฏิรูปการทำงานของบรรษัทการเงินระหว่างประเทศ (International Financial Corporation: IFC) และสถาบันประกันการลงทุนพหุภาคี (Multilateral Investment Guarantee Agency: MIGA) ให้มีการเข้าถึงปัญหาในเชิงปฏิบัติการมากยิ่งขึ้น

สำหรับการประชุมร่วมของประเทศสมาชิกกลุ่มออกเสียงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ โดยที่ประชุมได้รับทราบสถานะปัจจุบันของการดำเนินนโยบายสำคัญที่ผ่านมาและแบ่งปันองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของทั้งสององค์กร ได้แก่ การรับทราบภาพรวมของการดำเนินงานและกลยุทธ์ของธนาคารโลกในการจัดการแก้ไขปัญหาความยากจนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ยุทธศาสตร์และการเฝ้าระวังสถานภาพด้านการเงินของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ และการบริหารจัดการการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ

ด้านการประชุม Middle Income Countries: The Rise of the Middle Class โดยที่ประชุมได้มีการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้านนโยบายในเรื่องการยกระดับรายได้ของประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลาง(ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มนี้)ในภูมิภาค ลาตินอเมริกา เอเชียตะวันออก และยุโรป ซึ่งเป็นปัจจัยสู่ความสำเร็จในการยกระดับรายได้ประชากรของประเทศ อาทิ การยกระดับพื้นฐานอาชีพ การเพิ่มขีดความสามารถทางการผลิต และการเพิ่มศัยภาพทางการแข่งขัน โดยคำนึงถึงการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง (Inclusive Growth) และผลกระทบจากการยกระดับรายได้ของประชากรกลุ่มดังกล่าว

และ การเข้าร่วมสัมมนา Fiscal Forum: Evolving Role of Fiscal Policy ซึ่งมีประเด็นหารือในด้านบทบาทและการบริหารจัดการนโยบายด้านการคลังที่เปลี่ยนไป อาทิ บทบาทด้านการคลังที่เปลี่ยนไปภายหลังวิกฤตเศรษฐกิจโลก และกลยุทธ์เพื่อรักษาสมดุลของการเติบโตทางเศรษฐกิจระดับรากหญ้าและความมั่นใจทางเศรษฐกิจจากการลดภาวะขาดดุลทางการคลัง นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีการหารือถึงประโยชน์จากการนำ Fiscal Multiplier มาใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารด้านการคลัง

การเข้าร่วมสัมมนา Fiscal Policy, Equity and Long-Term Growth in Developing Countries ซึ่งหารือในประเด็นด้านการรักษาสมดุลของมาตรการด้านการคลัง อาทิ การวิเคราะห์องค์ประกอบของนโยบายด้านการจัดเก็บภาษีและรายจ่ายภาครัฐเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ การเพิ่มประสิทธิภาพการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ บทบาทเชิงสถาบันด้านการคลังต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ความแตกต่างของโครงสร้างด้านนโยบายการคลังเพื่อการเติบโตของเศรษฐกิจที่มีขนาดแตกต่างกัน และนโยบายด้านการคลังเพื่อบรรเทาปัญหาความยากจนและพัฒนาการกระจายรายได้และคุณภาพของประชาชน

นอกจากนี้ นายสมชัย ยังได้เข้าร่วมหารือทวิภาคีกับ นายแอกเซ็ล แวน ทรอดเซนเบอร์ก รองประธานธนาคารโลกด้านภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก และ นางคาริน ฟินเกลสตัน รองประธานบรรษัทการเงินระหว่างประเทศ (International Finance Cooperation — IFC) ด้านภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยมีการหารือในประเด็นด้านความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและกลุ่มธนาคารโลก ได้แก่ การจัดเตรียมยกร่างกรอบความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ไทย-ธนาคารโลก (Thailand-the World Bank Country Partnership Strategy) บทบาทของบรรษัทการเงินระหว่างประเทศ (IFC) ในการส่งเสริมบทบาทของภาคเอกชนในการลงทุนและพัฒนาเศรษฐกิจไทย การมีส่วนร่วมของกลุ่มธนาคารโลกในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย และ แนวทางการศึกษาความสมบูรณ์ของระบบตาข่ายความปลอดภัยทางสังคม (Social Safety Net) ของไทย เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ