สศก. ถกแนวทางแก้ปัญหาหลังราคายางร่วงแรงจากกังวลศก.โลก-เกิด Over supply

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 22, 2013 15:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอำนวย ปะติเส ประธานคณะทำงานด้านยางพารา เปิดเผยว่า ในวันนี้ได้นัดประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และเอกชน เพื่อประเมินสถานการณ์ราคายาง และหามาตรการเพื่อช่วยเหลือบรรเทาปัญหาราคายางปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ก่อนที่ผลผลิตฤดูกาลใหม่จะออกสู่ตลาดในช่วงต้นเดือนพ.ค.นี้เพื่อสรุปแนวทางก่อนนำเสนอภาครัฐ คณะกรรมการนโยบายยางแห่งชาติ(กนย.) คณะรัฐมนตรี ออกเป็นมาตรการช่วยเหลือในท้ายที่สุด คาดว่าการประชุมหารือในวันนี้น่าจะได้ข้อสรุปที่ถูกใจทุกฝ่าย

ทั้งนี้ จากการประเมินสถานการณ์ พบว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้ราคายางปรับตัวลดลง เกิดจากบรรดากองทุนโยกย้ายการลงทุนจากสินค้าโภคภัณฑ์ อาทิ ทองคำ น้ำมัน ยาง จากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ยุโรป รวมถึงจีน ซึ่งเป็นผู้ซื้อยางเบอร์ 1 ของโลก

ด้านตัวแทนจากกรมวิชาการเกษตร ระบุถึงสาเหตุที่ราคายางปรับตัวลดลง เนื่องจากโดยรวมไม่มีปัจจัยบวกเด่น มีแต่ปัจจัยลบที่ส่วผลทางจิตวิทยา ทั้งในตลาดฟิวเจอร์ส ผู้ค้า รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการยางล้วนแต่มองเห็นเศรษฐกิจทรงกับทรุด อีกทั้งปัจจุบันเข้าสู่ภาวะ Over supply และคาดว่าจะเกิดภาวะดังกล่าวไปตลอดทั้งปี สังเกตุจากสต๊อกยางที่มีในมือ ทั้งของผู้ซื้อและผู้ขายก็เป็นส่วนหนึ่งที่มีผลให้นักลงทุนนำมาประกอบการพิจารณาการลงทุน

ด้านนายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริษัทร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ (IRCo) กล่าวว่าปัจจัยที่ส่งผลให้ราคายางลดลงอย่างต่อเนื่องจากปีก่อน เพราะตัวเลขอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF)มองว่าจะลดเหลือแค่ 3.3% จาก 3.5% เป็นดัชนีชี้วัด Global Consumption ขณะเดียวกันตัวเลข GDP ของจีนไตรมาส 1/56 ลดลงเหลือ 7.7% จาก 7.9% ในไตรมาส 4/55

นอกจากนี้ ตัวเลขสต๊อกยางของจีนที่เมืองชิงเต่าอยู่ที่ 385,000 ตัน สูงกว่าปกติ ทำให้นักลงทุนมองว่าจีนไม่มีความจำเป็นต้องซื้อยางเพิ่ม ประกอบกับมาตรการพยุงราคายางของรัฐบาลไทย ด้วยการรับซื้อยางจากเกษตรกร ส่งผลให้สต๊อกยางของรัฐ สูงถึง 2 แสนตัน

"ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้เกิดภาวะ Over supply ยังไม่นับรวม กรณี 3 ประเทศผู้ผลิตยาง คือ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ร่วมมือกันชะลอการส่งออก และปัจจัยเหล่านี้ทำให้นักลงทุน โดยเฉพาะที่ตลาดล่วงหน้าจีนพากันเทขายสัญญาอย่างรุนแรง และฉุดให้ราคายางล่วงหน้าที่จีนต่ำกว่าควรจะเป็น

และ ยังซ้ำเติมด้วยค่าเงินบาทที่แข็งค่ากว่าประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะในบรรดาผู้ส่งออกยางด้วยกัน ยิ่งเป็นปัจจัยกดดันทำให้นักลงทุนชะลอการลงทุนในสินค้ายาง ดังนั้น ภาครัฐต้องหาทางจัดการเรื่อง sentiment ของตลาดก่อนที่ผลผลิตยางจะออกสู่ตลาดในเร็วๆ นี้"นายเยี่ยม กล่าว


แท็ก ยางพารา  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ