"การเจรจาในกรอบ AEC ถือว่ายังไม่เปลี่ยนแปลงอะไรมากมายที่เกิดผลกับภาคธุรกิจไทย ซึ่ง AEC ที่มีความสำคัญต่อธุรกิจไทยคือ AEC ที่เกิดขึ้นจริงตามธรรมชาติไม่ใช่ประชาคมอาเซียนที่มีการตกลงกันในกระดาษ" นายสมเกียรติ กล่าว
โดยธุรกิจที่มีความพร้อมคือ ธุรกิจที่เป็นบริษัทจดทะเบียน 100 แห่งที่มีบริษัทลูกและเปิดสาขาอยู่ในอาเซียนเกินกว่า 200 กิจการ ไม่ว่าจะเป็น พลังงาน ค้าปลีก โรงแรม ท่องเที่ยว อสังหาริมทรัพย์ และอุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ ซึ่งมองว่าธุรกิจไทยเหล่านี้มีความพร้อมพอสมควร แต่ต้องได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐและความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดจาก AEC ประกอบกับหน่วยงานที่ส่งเสริมการลงทุนหรือ BOI ก็จะต้องปรับแนวการส่งเสริมการลงทุนจากเดิมส่งเสริมแค่ให้มีการลงทุนขาเข้า ซึ่งต้องเปลี่ยนให้มีการลงทุนขาออกด้วย พร้อมส่งเสริมให้มีการเชื่อมโยงกันระหว่างธุรกิจที่ไปลงทุนต่างประเทศกับธุรกิจที่ยังอยู่ในประเทศไทยด้วย
นอกจากนี้รัฐบาลควรไปเจรจากับประเทศในอาเซียนให้มีการทำอนุสัญญาภาษีซ้ำซ้อน เพื่อให้ธุรกิจไทยไปลงทุนในต่างประเทศแล้วไม่ต้องเสียภาษีซ้ำซ้อน ซึ่งก็มีประเทศที่จะต้องไปเจรจาดังกล่าว คือ กัมพูชา โดยกัมพูชาจะเป็นประเทศเป้าหมายของนักธุรกิจไทยในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเยอะ เช่น สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องหนัง อัญมณี ที่อาจจะมีการขยับไปลงทุน รวมถึงการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง GMS ด้วย ซึ่งยังไม่มีความพร้อมมากนักในหลายๆ เรื่อง เช่น การคุ้มครองการลงทุนจากไทยที่รัฐควรให้การสนับสนุนและเร่งในการเชื่อมโยงธุรกิจเข้าด้วยกัน ทั้งการเชื่อมโยงทางกายภาพ เช่น เรื่องของถนน รถไฟที่ใช้ขนของที่สามารถลดต้นทุนโลจิสติกส์ โครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมกัน โดยเฉพาะเรื่องของกฎระเบียบกระบวนการศุลกากรการเข้าออกด่านให้มีความสะดวกมากขึ้น
อย่างไรก็ตามเกียวกับโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาทนั้น ตนเองมองว่าเป็นโครงการที่มีความพร้อมและมีความจำเป็น โดยเฉพาะโครงการรถไฟรางคู่ถือเป็นหัวใจสำคัญ เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานในการขนส่งทางบกของไทยยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร โครงการเหล่านี้จึงเป็นโครงการที่ต้องเร่งผลักดันให้เกิดขึ้น แต่ยังคงมีบางโครงการที่ยังไม่มีความชัดเจนอีกมาก เช่น รถไฟความเร็วสูง ที่มีมูลค่าโครงการรวม 9 แสนล้านบาท ส่วนนี้จึงต้องเร่งทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการก่อน ไม่ควรปล่อยให้ขาดทุนในภายหลัง