(เพิ่มเติม) พาณิชย์เผย มี.ค.ส่งออกโต 4.6% นำเข้าหดตัว 11.5% ขาดดุล 867.1 ล้านดอลล์

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 23, 2013 13:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางวัชรี วิมุกตายน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือน มี.ค.56 ว่า การส่งออกในเดือนนี้ขยายตัวเพิ่มขึ้น 4.55% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นมูลค่า 20,769.6 ล้านดอลลาร์ ขณะที่การนำเข้าขยายตัวลดลง 11.52% คิดเป็นมูลค่า 21,636.7 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ขาดดุลการค้าราว 867.1 ล้านดอลลาร์

โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อการส่งออก ได้แก่ มาตรการผ่อนคลายทางการเงินของสหรัฐฯ ที่ช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคเอกชนภายในประเทศส่งผลให้การส่งออกสินค้าไทยขยายตัวในหลายรายการ, นโยบายที่ชัดเจนของรัฐบาลญี่ปุ่นชุดใหม่ส่งสัญญาณที่ดีต่อแนวโน้มเศรษฐกิจของญี่ปุ่นส่งผลให้สินค้าส่งออกของไทยขยายตัว, เศรษฐกิจจีนและเอเชียภาพรวมยังขยายตัว เนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศ และการส่งออกเริ่มฟื้นตัว, ความต้องการข้าวที่เพิ่มขึ้นในตลาดโลก ประกอบกับสต็อคข้าวของประเทศคู่แข่ง เช่น อินเดีย ลดลง ส่งผลให้ส่งออกข้าวมากขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจยุโรปยังอ่อนแอและมีแนวโน้มจะยังอยู่ในภาวะถดถอยในช่วงต้นปี 2556 ภาคเอกชนต่างลดการใช้จ่ายลงอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากการขาดความเชื่อมั่นในสถานะทางการเงิน

ทั้งนี้ ในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้(ม.ค.-มี.ค.56) การส่งออกยังขยายตัวเพิ่มขึ้น 4.26% คิดเป็นมูลค่า 56,966.6 ล้านดอลลาร์ ขณะที่การนำเข้าขยายตัวเพิ่มขึ้น 8.44% คิดเป็นมูลค่า 64,877.6 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ขาดดุลการค้ารวมทั้งสิ้น 7,911 ล้านดอลลาร์

สำหรับการส่งออกสินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตร ภาพรวมเพิ่มขึ้น 0.5% ได้แก่ ข้าว(+22.9%) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง(+72.1%) ผักและผลไม้(+6.2%) สินค้าส่งออกลดลง ได้แก่ ยางพารา(-11.1%) อาหารทะเลแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป(ไม่รวมกุ้ง)(-2.5%) กุ้งแช่แข็งและแปรรูป(-24.9%) ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป(-5.2%) น้ำตาล(-32.2%)

หมวดสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญ ภาพรวมเพิ่มขึ้น 3.7% ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า(+4.8%) ยานยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ(+15.8%) เม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติก(+7.8%) วัสดุก่อสร้าง(+17.8%) อัญมณีและเครื่องประดับ(+32.7%) เครื่องเดินทาง เครื่องหนังและรองเท้า(+4.2%) เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์(+1.7%) เครื่องใช้และเครื่องประดับตกแต่งบ้าน(+4.8%) อาหารสัตว์เลี้ยง(+5.4%) สินค้าส่งออกที่ลดลง ได้แก่ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์(-12.9%) สิ่งทอ(-4%) ผลิตภัณฑ์ยาง(-0.5%) สิ่งพิมพ์กระดาษและบรรจุภัณฑ์(-2%) เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน(-6.9%)

ส่วนหมวดสินค้าอื่นๆ ภาพรวมเพิ่มขึ้น 11%

โดยตลาดหลักภาพรวมลดลง 0.4% ได้แก่ ญี่ปุ่น(-0.9%) สหรัฐอเมริกา(-4.7%) ขณะที่สหภาพยุโรปสมาชิกเดิม 15 ประเทศ(+5.5%) ตลาดศักยภาพสูงภาพรวมเพิ่มขึ้น 6.1 % ได้แก่ อาเซียน(9)(+8.9%) [อาเซียนเดิม (5)(+7.4%) อินโดจีนและพม่า(+12.3%)] จีน(+1.1%) ฮ่องกง(+24.8%) ตลาดที่ลดลง ได้แก่ เอเชียใต้(8)(-2.8%) เกาหลีใต้(-12.7%) ไต้หวัน(-14.5%) และตลาดศักยภาพระดับรองภาพรวมเพิ่มขึ้น 12.5% ได้แก่ ทวีปออสเตรเลีย(+39.1%) ตะวันออกกลาง(+12.4%) ทวีปแอฟริกา(+10.2%) ลาตินอเมริกา(+2.4%) แคนาดา(+6.7%) ตลาดที่ลดลง ได้แก่ สหภาพยุโรปสมาชิกใหม่ 12 ประเทศ(-19.7%) รัสเซียและ CIS(-9.1%) และตลาดอื่นๆ ภาพรวมลดลง 45.3% ได่แก่ สวิตเซอร์แลนด์(-67.6%)

สำหรับปัจจัยที่มีผลต่อการนำเข้า ได้แก่ การนำเข้าในหมวดเชื้อเพลิงลดลง และค่าเงินบาทที่แข็งค่า ทำให้นำเข้าเครื่องจักร และวัตถุดิบ/กึ่งสำเร็จรูปได้ราคาถูกลง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ