(เพิ่มเติม) "กิตติรัตน์"คาดเสนอกรอบงบรายจ่ายปี 57 เข้าสภาฯสมัยวิสามัญ พ.ค.นี้

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 23, 2013 15:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 57 (เริ่ม 1 ต.ค.56) โดยจะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยวิสามัญในช่วงเดือน พ.ค.56 กำหนดกรอบงบประมาณรายจ่าย 2.525 ล้านล้านบาท มีการตั้งขาดดุลงบประมาณที่ 2.5 แสนล้านบาท ประมาณการรายรับที่ 2.275 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ ที่ประชุม ครม.ได้ให้ข้อสังเกตให้ส่วนราชการไปศึกษารายละเอียดยุทธศาสตร์ของแต่ละหน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรและกลับมาเสนอที่ประชุม ครม.รับทราบอีกครั้งภายใน 1 สัปดาห์

"เชื่อว่าการใช้จ่ายงบประมาณในปีงบประมาณ 2557 จะมีประสิทธิภาพมากขึ้นเนื่องจากในส่วนของงบลงทุนต่างๆ ถือว่ามีความพร้อมเพราะได้มีการเตรียมการดำเนินการล่วงหน้าเป็นระยะเวลานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของการเตรียม TOR หรือการออกแบบต่างๆ เชื่อว่าจะช่วยให้การใช้จ่ายงบประมาณมีประสิทธิภาพมากขึ้น"นายกิตติรัตน์ กล่าว

ส่วนข้อกล่าวหาการตั้งงบลงทุนโครงการ 2 ล้านล้านบาทจะมาเบียดบังงบประมาณในปี 57 และปีต่อๆไปนั้น นายกิตติรัตน์ ยืนยันว่าจะไม่เกิดปัญหาเบียดบังงบประมาณในแต่ละปี เพราะรัฐบาลได้นำงบลงทุนโครงการ 2 ล้านล้านบาทจัดทำเป็นพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. ...แล้ว จึงมั่นใจว่าจะไม่เบียดบังงบประมาณทางด้านคุณภาพชีวิต การศึกษา และด้านอื่นๆ อย่างแน่นอน

ด้าน นพ.ทศพร เสรีรักษ์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ครม.รับทราบความคืบหน้าการจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 โดยมีงบประมาณที่หน่วยงานราชการเสนอขอมารวม 3,783,781 ล้านบาท ซึ่งสำนักงบประมาณได้พิจารณาแล้วตัดให้อยู่ในกรอบวงเงิน 2.525 ล้านล้านบาท โดยเป็นงบประมาณแบบขาดดุลจำนวน 2.5 แสนล้านบาท ทั้งนี้ ได้ตั้งสมมุติฐานว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวที่ระดับ 4.5% อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 3.2% คาดว่าจะจัดเก็บรายได้ราว 2.275 ล้านล้านบาท

ในวันที่ 23-24 เม.ย.รัฐมนตรีทุกกระทรวงจะพิจารณาปรับปรุงในรายละเอียด และวันที่ 25-26 เม.ย.นี้ทางสำนักงบประมาณจะพิจารณาปรับปรุงรายละเอียดเป็นครั้งสุดท้าย โดยมีหลักการว่าการจัดงบประมาณต้องคำนึงถึงความสำคัญตามนโยบายรัฐบาล และมีความจำเป็นเร่งด่วน โดยไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงรายจ่ายที่มีข้อผูกพันตามสัญญาหรือตามมติ ครม.ในการชำระหนี้ต่างๆ ตลอดจนเงินอุดหนุนท้องถิ่น

สำหรับงบประมาณสำหรับกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ 76 จังหวัด และกลุ่มจังหวัดแบบ 18 จังหวัด ได้ตั้งงบประมาณไว้ทั้งสิ้น 18,170 ล้านบาท และงบประมาณที่จัดสรรให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นอีก 620,625 ล้านบาท หรือคิดเป็น 27.28% ของรายได้สุทธิของรัฐบาล


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ