"ธนิต" เสนอ 5 มาตรการแก้บาทแข็งให้คลัง-ธปท.พรุ่งนี้/มองมีโอกาสแตะ 28 เร็วๆนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 23, 2013 16:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธนิต โสรัตน์ เลขาธิการและรักษาการประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้ (24 เม.ย.) จะนำเสนอ 5 มาตรการช่วยเหลือผู้ส่งออกและ SMEs ซึ่งได้รับผลกระทบเงินบาทแข็งค่าเสนอต่อรมว.คลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกอบด้วย

1.ขอให้ดูแลเสถียรภาพเงินบาทไม่ให้มีความผันผวน โดยอัตราแลกเปลี่ยนขอให้สอดคล้องไปกับอัตราแลกเปลี่ยนของภูมิภาค รวมทั้งทบทวนมาตรการต่างๆ ซึ่งทาง ธปท.และกระทรวงการคลัง เคยออกมาแล้ว แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาเงินบาทไร้เสถียรภาพได้อย่างชัดเจน

2. มาตรการบริหารจัดการเงินทุนเคลื่อนย้าย (Capital Flow Management Measures) แนวโน้มที่เงินทุนจากต่างประเทศจะไหลเข้ามาทำกำไรในประเทศไทย จะมีเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการผันผวนของตลาดหุ้น ตลาดทอง และตลาดคอมมิวนิตี้ อีกทั้ง การอัดฉีดสภาพคล่องของประเทศญี่ปุ่น ทำให้เงินเยนมีการอ่อนค่า โอกาสที่เงินจะไหลเข้ามาในประเทศไทยเป็นไปได้สูง จึงขอให้ ธปท.พิจารณาใช้มาตรการต่างๆ เช่น มาตรการเก็บภาษีเงินทุนไหลเข้า สำหรับกรณีที่เงินทุนไหลเข้ามาทำกำไรในระยะสั้น ซึ่ง ธปท.น่าจะพิจารณาว่า ช่วงนี้มีความจำเป็นจริงหรือไม่ที่จะนำเข้ามาใช้ แต่ต้องพิจารณาให้รอบคอบถึงผลกระทบที่จะมีต่อตลาดเงินและการระดมทุนของภาคเอกชน

3. การพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารเงินทุนไหลเข้า ขอให้ทาง ธปท. และคณะกรรมการนโยบายการเงิน ได้มีการพิจารณาในการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ถึงแม้ที่ผ่านมาจะมีความเข้าใจได้ว่า ธปท.มีความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อและปัญหาเศรษฐกิจฟองสบู่ รวมถึงรับรู้ว่าการป้องกันเงินทุนไหลเข้า ไม่ได้เกิดจากปัจจัยอัตราดอกเบี้ยต่ำเพียงอย่างเดียว ทาง ธปท.ควรจะมีการทบทวนและพิจารณาถึงความจำเป็นของผลกระทบที่อาจมีต่อภาคการส่งออก ซึ่งการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ควรพิจารณาอัตราที่เหมาะสมที่จะชะลอเงินทุนไหลเข้า แต่เห็นว่าอย่างน้อยต้องลดให้เหลือ ร้อยละ 2.0 (ดอกเบี้ยนโยบายของมาเลเซีย สิงคโปร์ และไต้หวัน อยู่ที่อัตราที่ใกล้เคียงกัน ร้อยละ 1.5 ขณะที่สหรัฐอเมริกา ดอกเบี้ยร้อยละ 1.0 ยุโรป ร้อยละ 0.75 และญี่ปุ่นร้อยละ 0.01)

4. ขอให้รัฐบาล และ ธปท. สนับสนุนให้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะให้ผู้ประกอบการมีการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะ SMEs ซึ่งมีข้อจำกัดด้านวงเงิน และยังไม่สามารถเข้าถึงการทำ Currency Future หรือฟอร์เวิดอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้า โดยให้มีการประสานงานและผลักดันให้มีกลไกค้ำประกันการทำสัญญาเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า

5. ขอให้ทบทวนและปรับเปลี่ยนมาตรการต่างๆ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยขอให้ภาครัฐมีการทบทวนมาตรการต่างๆ ซึ่งเคยออกมาเพื่อป้องกันเงินทุนไหลเข้า ซึ่งเข้ามาเก็งกำไรในระยะสั้น รวมถึงทบทวนมาตรการอื่นๆ เช่น

(1) มาตรการส่งเสริมให้ภาคเอกชนเร่งรัดในการซื้อเครื่องจักรจากต่างประเทศ ซึ่งเหตุผลในการซื้อเครื่องจักรขึ้นอยู่กับแผนการขยายการผลิต ซึ่งจะต้องมีการเตรียมสถานที่ โดยเฉพาะแหล่งทุน

(2) มาตรการส่งเสริมให้นำเงินไปลงทุนในต่างประเทศ ถึงแม้ว่าจะมีการผ่อนคลายระเบียบการควบคุม เคลื่อนย้ายเงินลงทุนไปต่างประเทศ แต่ปัจจัยสำคัญในการลงทุนในต่างประเทศ คงไม่ได้เกิดจากเงินบาทแข็งค่าหรืออ่อนค่า แต่ขึ้นอยู่กับศักยภาพของผู้ประกอบการ จำเป็นจะต้องมีการวางแผน ทั้งด้านเงินทุน ตลาด บุคลากร และอีกมากมาย

(3) การผ่อนคลายกฎเกณฑ์ระยะเวลาถือครองเงินตราต่างประเทศของผู้ส่งออก ให้สามารถฝากเงินตราต่างประเทศไว้ในบัญชีเงินตราต่างประเทศ หรือ FCD ได้นานสูงสุดถึง 2 ปี นับแต่วันที่มีการรับเงิน แต่ในสถานภาพที่เงินบาทมีการแข็งค่า ไม่ทราบว่าจุดใดจะเป็นจุดที่แข็งค่าสูงสุด ผู้ส่งออกก็ไม่กล้าที่จะถือครองดอลลาร์ไว้นาน อีกทั้ง ผู้ส่งออกที่เป็น SMEs ขาดสภาพคล่อง มีความจำเป็นที่จะต้องแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์เป็นเงินบาท เพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่าย และทุนหมุนเวียนของธุรกิจ

(4) การส่งเสริมให้มีการทำฟอร์เวิด เป็นการประกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนกับสถาบันการเงินในช่วงที่เงินบาทมีการแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง การทำฟอร์เวิดก็ไม่ใช่หลักประกันที่จะไม่ให้มีการขาดทุน ยิ่งในช่วงนี้มีการทำฟอร์เวิดมาก ก็จะยิ่งมีความเสียหายมาก แต่ก็ยังเป็นมาตรการที่จำเป็น เพียงแต่ต้องให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการส่งออกที่ยังมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องต่างๆ ยังไม่มาก

(5) ขอให้ทบทวนมาตรการช่วยเหลือด้านสภาพคล่อง ภาครัฐมีแนวทางต่างๆ ในการช่วยเหลือสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการส่งออก ซึ่งได้รับผลกระทบจากการขาดทุน อันเกิดจากการแข็งค่าของเงิน บาท ซึ่งเห็นว่าเป็นมาตรการที่ดี แต่ควรมีการปรับเปลี่ยน ให้ SMEs สามารถเข้าถึงมาตรการเหล่านี้ได้อย่างจริงจัง เพราะหากปล่อยกู้ตามมาตรการปกติผ่านธนาคารของรัฐ การพิจารณาอนุมัติเงินกู้มีความล่าช้า หากจะให้มาตรการนี้สัมฤทธิ์ผล จะต้องออกเป็นการปล่อยกู้ด้วยวิธีการผ่อนปรนหลักประกันเป็นกรณีพิเศษ นอกจากนี้ มาตรการช่วยเหลือสภาพคล่องผ่านโครงการ Venture Capital ควรพิจารณาว่ามีความเหมาะสมเพียงใดกับกรณีช่วยเหลือสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการซึ่งได้รับผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่า

นายธนิต ระบุว่า ในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทไทยแข็งค่ากว่าภูมิภาค เช่น เงินริงกิตของประเทศมาเลเซีย อ่อนค่าร้อยละ 0.17 เงินหยวนของจีน อ่อนค่าร้อยละ 0.06 และเงินรูเปียห์ของอินโดนีเซีย อ่อนค่าร้อยละ 0.08 โดยพบว่าที่ผ่านมามีเงินทุนไหลเข้า (Capital Inflow) มาทำกำไรในประเทศไทยจำนวนมาก รวมทั้งมีเงินไหลเข้าจากนักลงทุนญี่ปุ่น ซึ่งต้องการหาแหล่งปลอดภัยในการลงทุน นำเงินเข้ามาลงทุนในประเทศที่ปลอดภัย โดยเฉพาะในตลาดพันธบัตรของไทย ทั้งนี้ แนวโน้มว่าการที่เงินเยนมีการอ่อนค่าในช่วง 3 เดือน ไปถึงร้อยละ 11.51 จะทำให้มีเงินไหลเข้ามาในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง (เฉพาะในช่วงนี้ เงินเยนแข็งค่าถึงร้อยละ 20) ซึ่งจะทำให้โอกาสที่เงินบาทจะแข็งค่าหลุดระดับไปที่ 28 บาท/ดอลลาร์ คงจะเห็นได้ในไม่ช้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ