สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ จะให้สิทธิแก่ข้าราชการที่เป็นสมาชิก กบข.ซึ่งเข้ารับราชการก่อนวันที่ 27 มี.ค.40 และสมัครเป็นสมาชิก กบข.สามารถแจ้งความประสงค์จะกลับไปใช้สิทธิในบำเหน็จบำนาญตาม พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 ให้แสดงความประสงค์ได้ตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับ จนถึงวันที่ 30 ก.ย.57 และให้ถือว่าสมาชิกภาพของสมาชิกผู้นั้นสิ้นสุดลง ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.57
ขณะเดียวกันร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้จะให้สิทธิผู้รับบำนาญที่เป็นสมาชิก กบข.ซึ่งเข้ารับราชการก่อนวันที่ 27 มี.ค.40 และสมัครเป็นสมาชิก กบข.แต่ได้ออกจากราชการแล้วหากประสงค์จะขอกลับไปรับบำนาญตาม พ.ร.บ.เดิม ให้แสดงความประสงค์ได้ตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับจนถึงวันที่ 30 มิ.ย.57 และผู้รับบำนาญจะต้องคืนเงินก้อน ซึ่งหมายถึงเงินประเดิม เงินชดเชย เงินสมทบ และผลประโยชน์ของเงินดังกล่าวที่ได้รับไปแล้วแก่ทางราชการ โดยผู้รับบำนาญจะได้รับบำนาญตามสูตรเดิม ตั้งแต่วันที่ออกจากราชการจนถึงวันที่ 30 ก.ย.57 โดยวิธีหักกลบลบกัน
"ครม.เห็นชอบว่าเป็นแนวทางที่เหมาะสม ซึ่งการจะแก้กฎหมายก็ต้องใช้เวลาบ้าง เพราะฉะนั้น หลังจากที่สภาฯ ได้อนุมัติร่างกฎหมายฉบับนี้ จะมีเวลาในช่วงก่อนจะสิ้นสุดปีงบประมาณ 57 อีกราวครึ่งปีเพื่อให้สมาชิกไตร่ตรองว่าจะเลือกใหม่หรือไม่" นายกิตติรัตน์ กล่าว
พร้อมระบุว่า รัฐบาลจะยังคงใส่เงินสมทบเข้ากองทุน กบข.เพิ่มเติมทุกปี เพราะเชื่อว่างบประมาณที่จะต้องใช้สำหรับการรองรับข้าราชการที่เกษียณอายุในอนาคตจะยิ่งเพิ่มมากขึ้นจากปัจจุบันที่อยู่ในระดับแสนล้านบาทต่อปี และในอีก 10-20 ปีก็จะยิ่งเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งรัฐบาลมีแนวคิดที่จะจัดสรรงบประมาณส่วนหนึ่งในงบประมาณรายจ่ายประจำปี 57 มาใช้สำหรับการดูแลข้าราชการในส่วนนี้
"ได้มีการหารือกันว่ารัฐบาลควรออมเพิ่มเพื่อดูแลข้าราชการในอนาคต ซึ่งงบประมาณในอนาคตจะยิ่งเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นรัฐบาลต้องเริ่มออมตั้งแต่วันนี้เพื่อดูแลข้าราชการให้ดีขึ้น คาดว่าจะจัดสรรงบประมาณจำนวนหนึ่งในงบปี 57 ในเรื่องของการออมเพื่อดูแลข้าราชการเหล่านี้...ถ้าไม่เตรียมการก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากปัจจุบันแสนล้านบาทต่อปี ถ้าไม่ออมก็จะเพิ่มเป็น 2-3 แสนล้าน และเป็นไปได้ว่าใน 10-20 ปี จะเพิ่มขึ้นไปจนกลายเป็นสัดส่วนที่สูงเกินไปสำหรับงบประมาณรวม" นายกิตติรัตน์ กล่าว