เมื่อสอบถามเพิ่มเติมถึงสิ่งที่ควรให้ความสำคัญมากที่สุดต่อการเตรียมตัวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนพบว่า ห้าอันดับแรกของสิ่งที่ควรให้ความสำคัญคือ อันดับหนึ่งหรือร้อยละ 24.8 ได้แก่ การพัฒนาระบบการศึกษาให้มีคุณภาพและมาตรฐานให้เท่าเทียมกันทั้งประเทศ อันดับสองหรือร้อยละ 23.6 ได้แก่ ภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาอังกฤษ อันดับสามหรือร้อยละ 18.2 ได้แก่การส่งเสริมวิชาชีพชำนาญการและพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน อันดับสี่หรือร้อยละ 14.4 ได้แก่ การพัฒนาเศรษฐกิจและการส่งเสริมการลงทุน และอันดับห้าหรือร้อยละ 7.6 ได้แก่ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ตามลำดับ
ที่น่าสนใจคือสามอันดับแรกของประเทศในอาเซียนที่มีความพร้อมและศักยภาพมากที่สุดในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในสายตาของกลุ่มตัวอย่างสามอันดับแรกได้แก่ อันดับหนึ่งหรือร้อยละ 34.5 ระบุสิงคโปร์ อันดับสองหรือร้อยละ 25.7 ระบุไทย และอันดับสามหรือร้อยละ 9.8 ระบุมาเลเซีย ตามลำดับ
"ประชาชนเล็งเห็นถึงการให้ความสำคัญต่อการเตรียมความพร้อมของทั้งประชาชนและประเทศโดยภาพรวมในการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ดังนั้นรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาและยกระดับประเทศอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ ความสามารถ และศักยภาพ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษาและการประกอบอาชีพให้ทัดเทียมประเทศอื่นๆ ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตชนบท ถิ่นทุรกันดาร ซึ่งที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าการพัฒนาจะถูกมุ่งเน้นไปที่บริเวณชุมชนเมือง นอกจากนี้เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวให้เข้าสู่สังคมนานาชาติ ควรให้ความสำคัญควบคู่ไปกับการส่งเสริมและการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมอันดีงามของไทยให้กับประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเด็กและเยาวชน อย่างไรก็ตามสิ่งที่สำคัญคือผู้ใหญ่ของประเทศก็ควรเป็นตัวอย่างที่ดี ใช้เหตุและผลในการบริหารประเทศเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติ โดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ของตนเอง และพวกพ้อง"น.ส.ปุณฑรีก์ ผช.ผอ. กล่าว
ทั้งนี้ เอแบคโพลล์ทำการสำรวจความคิดเห็นดังกล่าวจากกรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปที่พักอาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,525 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 15-23 เมษายน 2556 ที่ผ่านมา