ทั้งนี้ ค่าเงินบาทต้นปี 56 เปิดตลาดที่ 30.55 บาท/ดอลลาร์ ทยอยแข็งค่าขึ้นมาถึง 23 เม.ย.อยู่ที่ 28.82 บาท/ดอลลาร์ คิดเป็นแข็งค่าขึ้นในระดับ 6.28% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐตั้งแต่ต้นปี เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีปัจจัยพื้นฐานที่ดี การขยายตัวของเศรษฐกิจมีเสถียรภาพ และได้รับการปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ รวมถึงมีการออก พ.ร.บ.เงินกู้เพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติมีความเชื่อมั่นในการลงทุนในสินทรัพย์สกุลบาท จึงมีกระแสเงินทุนไหลเข้ามาในไทยอย่างต่อเนื่อง
"ยอมรับระยะหลังเงินบาทแข็งค่าเร็วและมาก สะท้อนการปรับตัวของผู้ที่เกี่ยวข้อง แต่ยังคงเคลื่อนไหวสอดคล้องกับภูมิภาคยกเว้นบางประเทศที่มีเหตุผลในแต่ละประเทศแตกต่างกัน เช่น มาเลเซียจะมีการเลือกตั้ง ริงกิตแข็งค่า 0.16% (เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ) ตั้งแต่ต้นปี ส่วนเกาหลีใต้ มีปัญหาด้านการเมือง ทำให้เงินวอนอ่อนค่าลง 4.28% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ"นางจันทวรรณ กล่าว
สำหรับความจำเป็นในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อแก้ปัญหาเงินบาทแข็งค่านั้น นางจันทวรรณ กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยของไทยในขณะนี้ไม่ได้แตกต่างจากเพื่อนบ้านมากนัก ยกเว้นเมื่อเทียบกับประเทศอุตสาหกรรมหลัก ดังนั้น ระดับอัตราดอกเบี้ยไม่น่าจะเป็นปัจจัยเดียวที่มีผลต่อการไหลเข้าของเงินทุน แต่เป็นปัจจัยระยะยาวที่เชื่อมโยงกับปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจ
ส่วนความจำเป็นในการใช้มาตรการสกัดกั้นเงินทุนระยะสั้นนั้น นายจันทวรรณ กล่าวว่า ขึ้นกับจังหวะเวลา เพราะการทำมาตรการทุกอย่างมีผลข้างเคียงและผลกระทบในระยะยาวตามมา
"ต้องไตร่ตรองเชิงนโยบายให้รอบคอบ ซึ่ง ธปท.ในฐานะคนทำงานได้ติดตามสถานการณ์เคลื่อนไหวของค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด และเตรียมมาตรการดูแลไว้พร้อมเพื่อนำมาใช้ในกรณีที่จำเป็น...วิธีการหรือเครื่องมือที่ใช้ในการดูแลต้องเฉพาะเจาะจงมากกว่าการปรับเปลี่ยนเครื่องมือมหภาค"นางจันทวรรณ กล่าว