นักวิชาการห่วงรัฐบาลแบกภาระหนี้จากโครงการ 2 ล้านลบ. แนะเลิกประชานิยม

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 24, 2013 15:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานกรรมการบริหาร สถาบันอนาคตไทยศึกษา กล่าวในงานสัมมนา “โครงการ 2 ล้านล้านกับอนาคตประเทศไทย” ว่า เป็นห่วงความเสี่ยงในเรื่องภาระหนี้จากโครงการ 2 ล้านล้านบาท เนื่องจากโครงการดังกล่าวใช้เงินลงทุนมูลค่ามหาศาล ทำให้เพิ่มหนี้สาธารณะที่จะเป็นภาระต่องบประมาณของประเทศในอนาคต ซึ่งจากการนำเสนอตัวเลขตามที่กระทรวงการคลังรายงานนั้น บ่อยครั้งจะพบในข่าวว่าหากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP สูงเกิน 60% ประเทศไทยจะเกิดวิกฤตทางการคลัง
"ตนมองว่าสิ่งที่จะสื่อว่าประเทศจะเกิดวิกฤตดังกล่าวได้นั้นไม่ใช่สัดส่วนของภาระหนี้ แต่เป็นความสามารถในการชำระหนี้ของรัฐบาลได้ ซึ่งสิ่งสำคัญที่ต้องดูคือภาระหนี้ต่อรายได้สุทธิของรัฐบาลมากกว่า"นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ภาระหนี้ของประเทศไทยยังไม่น่าเป็นห่วง แต่สิ่งที่ควรระวังคือภาระหนี้อาจเพิ่มสูงขึ้นจากการดำเนินนโยบายประชานิยม ที่ในอนาคตไทยจะมีฐานะทางการเงินที่อ่อนแอ เนื่องจากมีภาระหนี้สูงขึ้น ส่งผลให้เหลืองบประมาณที่จะนำไปใช้ในเรื่องอื่นๆน้อยลง และอยู่ในภาวะเสี่ยงหากอัตราดอกเบี้ยในอนาคตสูงขึ้น

นอกจากนี้ เมื่อมีการกู้เงินลงทุน 2 ล้านล้านบาท จะต้องดำเนินการ 2 กระบวนการ คือ 1. ต้องลงทุนให้ถูกที่ ในด้านที่ประเทศมีความต้องการ เช่น ด้านนวัตกรรมและพลังงาน แต่กลับไม่ได้ความสำคัญเท่าใดนัก แต่การลงทุนในโครงสร้าง 2 ล้านล้านบาทนั้นเป็นการลงทุนในเรื่องของโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง ยกตัวอย่างเช่น รถไฟฟ้าความเร็วสูง ที่ใช้งบประมาณในการสร้างสูงถึง 170,450 ล้านบาท มีผู้โดยสารที่ใช้บริการโดยเฉลี่ย 41,000 วัน แต่เมื่อเทียบกับการสร้างสถานีขนส่ง กรุงเทพฯ-สายเหนือ/ตะวันออกเฉียงเหนือนั้น ใช้งบประมาณแค่ 1,800 ล้านบาท จะขนส่งผู้โดยสารได้ 91,000 วันเท่านั้น หรืออย่างโครงการ Airport link ที่เป็นหนึ่งในบทเรียนที่ทำให้เห็นถึงการประเมินความคุ้มค่าการลงทุนที่ผิดพลาด เพราะคาดการณ์ว่าจะมีผู้โดยสารจำนวนมากเกินความจริงเป็น 10 เท่า

อีกประการ คือ ต้องลงทุนให้ถูกวิธี โดยต้องดำเนินการ วิเคราะห์เพื่อจัดสรรงบประมาณ เช่น โครงการของ California High Speed Rail ที่มีการเปิดเผยกระบวนการทำงานทุกขั้นตอน แต่สำหรับโครงการขนาดใหญ่ของไทยไม่มีรายละเอียดเผยต่อสาธารณะเลย ประกอบกับการติดตาม ต้องไม่เป็นเพียงสิ่งที่บอกความก้าวหน้าของโครงการเท่านั้นแต่ต้องมีการระบุชื่อผู้รับผิดชอบ ต้องระบุสาเหตุของความล่าช้าด้วย และการประเมินผล ต้องให้เกิดความโปร่งใสมากที่สุดโดยมีผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกเข้ามาประเมิน และระบุชื่อผู้รับผิดชอบการประเมินหลังโครงการที่เสร็จสิ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอให้รัฐบาลควรทำเพื่อลดความเสี่ยงทางการคลังของประเทศ คือ 1. ควรเลิกนโยบายประชานิยมในแบบไม่จำกัดวงเงินงบประมาณ 2.ควรบริหารจัดการเงินลงทุนในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่อย่างมีประสิทธิภาพ โดยรัฐควรจะลดขนาดการกู้ยืมลงและชำระเงินต้นให้มากขึ้น 3. ควรมีการบริหารจัดการที่ชัดเจน ต้องกำหนดว่าหน่วยงานใดจะทำหน้าที่บริหารและวิธีการบริหารอย่างไร 4. ต้องมีระบบตรวจสอบและประเมินผลสำหรับโครงการภาครัฐที่มีการลงทุนขนาดใหญ่ และ 5. ต้องสร้างกลไกความรับผิดชอบที่ชัดเจน มีผู้รับผิดชอบและกลไกที่มีประสิทธิภาพในการนำผู้ที่เกี่ยวข้องมาลงโทษ เมื่อเกิดความเสียหาย ไม่ว่าจะจากเจตนาทุจริตหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ