รมว.พลังงานตั้งเป้ารับซื้อไฟฟ้าถ่านหิน 4,000MW โครงการทวายในอีก 7-8 ปี

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 24, 2013 18:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการปรับแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศในระยะยาว (พีดีพี) ว่า คาดว่าพีดีพีใหม่ที่จะปรับแผนการจัดหาไฟฟ้าใหม่ โดยจะเพิ่มการผลิตจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน และการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศมากขึ้นอย่างละ 10,000 เมกะวัตต์ เพื่อลดสัดส่วนของการใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้า

เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยใช้ก๊าซฯ ในการผลิตไฟฟ้ากว่า 70% ทำให้เกิดความเสี่ยงในกรณีที่หากก๊าซฯ ที่นำเข้าจากต่างประเทศ เช่น พม่า ไม่สามารถจัดส่งก๊าซฯ มาประเทศไทยได้ ก็จะทำให้เกิดปัญหาในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งในต่างประเทศส่วนใหญ่จะมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซฯ ไม่เกิน 45% เท่านั้น

สำหรับการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหินให้ครบ 10,000 เมกะวัตต์ ก็จะมีการคงสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ตามแผนพีดีพีเดิม คือ พีดีพี 2010 กำหนดให้ กฟผ.ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินรวม 4,400 เมกะวัตต์ไว้ตามเดิม แต่จะเพิ่มการรับซื้อไฟฟ้าถ่านหินที่ก่อสร้างในประเทศเพื่อนบ้านในส่วนที่เหลือให้ครบ 10,000 เมกะวัตต์

ขณะนี้กำหนดไว้คร่าวๆ ว่าจะรับซื้อไฟฟ้าประมาณ 4,000 เมกะวัตต์จากโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จะสร้างในนิคมอุตสาหกรรมทวาย ซึ่งเดิมมีแผนว่าจะก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาด 4,000 เมกะวัตต์ แต่ในเฟสแรกจะผลิตเพื่อขายไฟฟ้าป้อนให้กับโรงงานที่ก่อสร้างขึ้นในนิคมฯ ทวาย หลังจากนั้นในเฟสต่อไปจึงจะจัดส่งมายังไทย แต่มีการเปลี่ยนแผนใหม่ คือ โรงไฟฟ้าที่จะก่อสร้างขึ้นจะขายไฟฟ้าให้กับประเทศไทยทั้งหมดก่อน เพื่อให้โรงไฟฟ้าสามารถเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว หลังจากนั้นหากมีอุตสาหกรรมเกิดขึ้นก็สร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มเพื่อจ่ายไฟเข้าในนิคมฯ ทวาย

"ขณะนี้ กฟผ.ได้เข้าไปเข้าช่วยพม่าในการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในนิคมฯ ทวาย ว่าเป็นอย่างไร ส่วนเมื่อศึกษาแล้วเสร็จใครจะเป็นผู้ลงทุนในโครงการนี้ ก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลพม่าว่าจะให้สัมปทานกับใคร ทั้งนี้ มีเป้าหมายว่าโรงไฟฟ้าในนิคมฯ ทวาย น่าจะเกิดขึ้นในอีก 7-8 ปีข้างหน้า" รมว.พลังงาน กล่าว

ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 1,600 เมกะวัตต์ ก็จะมีการรับซื้อไฟฟ้าถ่านหินจากประเทศเพื่อนบ้านประเทศอื่น เช่น มาเลเซีย ลาว กัมพูชา เป็นต้น ซึ่งก็มีแผนที่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเสนอขายไฟฟ้าให้กับประเทศไทย

ทั้งนี้ การรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหินในต่างประเทศจะไม่ถูกนับรวมในส่วนที่จะเพิ่มการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศอีก 10,000 เมกะวัตต์ ซึ่งในส่วนนี้จะเป็นการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำทั้งหมด ซึ่งมีหลายประเทศที่มีศักยภาพ ทั้งพม่าและลาว โดยในส่วนของพม่ามีแผนที่จะพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานตามแนวแม่น้ำสาละวิน ซึ่งขณะนี้มีโครงการมายตง กำลังการผลิตประมาณ 7,000 เมกะวัตต์ โครงการยาทิด กำลังการผลิตประมาณ 4,000 เมกะวัตต์ และโครงการฮัดจี กำลังการผลิตประมาณ 1,600 เมกะวัตต์ ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำในลาวก็มีอีกหลายโครงการ

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำในพม่า เดิม บริษัท กฟผ.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (EGATI) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ กฟผ. เป็นผู้ลงทุนในโครงการตามลำน้ำสาละวิน แต่เนื่องจาก EGATI เป็นรัฐวิสาหกิจการลงทุนมีขั้นตอนมาก ทำให้ผู้ร่วมทุนในบางโครงการได้ขอหารือเพื่อที่จะให้ EGATI ลดสัดส่วนการถือหุ้นลง เพื่อที่จะลดขั้นตอนการลงทุนลง ดังนั้น ในเร็วๆ นี้ จึงต้องเรียกทาง กฟผ. เข้ามาหารือ เพื่อดูว่าจะมีการแก้ไขอย่างไร เพื่อให้การลงทุนเดินหน้าต่อไปได้ หรือจะให้ใครเป็นผู้ลงทุนแทนต่อไป

นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า โครงการทั้งหมดที่ได้วางแผนไว้สำหรับพีดีพีใหม่จะต้องมีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อยืนยันความเป็นไปได้ของโครงการ และตรวจสอบข้อมูลว่ายังมีโครงการใดที่จะเกิดขึ้นได้อีก เนื่องจากยังมีอีกหลายโครงการที่มีศักยภาพที่จะขายไฟฟ้าเข้าสู่ประเทศไทย แต่โครงการที่จะถูกกำหนดอยู่ในแผนพีดีพีใหม่ จะต้องเป็นโรงไฟฟ้าที่สามารถเกิดขึ้นได้จริง และมีค่าไฟฟ้าไม่สูง

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการลดสัดส่วนการใช้ก๊าซฯ ในการผลิตไฟฟ้าในอนาคตให้ต่ำกว่า 70% แต่คาดว่าการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ก็ยังไม่ลดลง เนื่องจากต้องนำมาป้อนให้กับโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซฯ เดิมที่มีการผลิตอยู่ และป้อนให้กับโรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (ไอพีพี) ที่จะรับซื้อเพิ่มขึ้นอีก 5,400 เมกะวัตต์ ที่จะมีการยื่นประมูลในปลายเดือนนี้


แท็ก ผลิตไฟฟ้า  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ