ไทยฟื้นเจรจา EFTA เดินหน้ากรอบข้อตกลงเตรียมพร้อมรับมือสินค้าเกษตรอ่อนไหว

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 25, 2013 12:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้เตรียมพร้อมในการเปิดเจรจาเขตเสรีการค้าระหว่างไทยและสมาคมการค้าแห่งยุโรป (European Free Trade Association: EFTA) ภายหลังจากนายกรัฐมนตรีไทยและนอร์เวย์ได้เห็นชอบหลักการให้ผลักดันการเจรจา FTA ระหว่างกันต่อไป

ในเรื่องดังกล่าว ไทยและ EFTA (ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 4 ประเทศ คือ สวิตเซอร์แลนด์ ลิกเตนสไตน์ นอร์เวย์ และไอซ์แลนด์) ได้เคยมีการเริ่มเจรจา FTA ระหว่างกันมาแล้ว แต่การเจรจาได้หยุดชะงักไปตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ฝ่าย EFTA ได้เสนอขอให้ไทยกลับไปเจรจา FTA อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนของมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันให้เรียบร้อยก่อนจะสามารถกลับไปเจรจากับ EFTA ได้

"ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างดำเนินการรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อประกอบการจัดทำร่างกรอบการเจรจาความตกลงตามขั้นตอนภายในประเทศ และเพื่อจัดเตรียมท่าทีการเจรจาในภาพรวมของฝ่ายไทย ทั้งนี้ สศก. พร้อมที่จะให้ความร่วมมือทั้งในการเจรจาเชิงรุก และเชิงรับ สำหรับสินค้าเกษตรที่ไทยมีความอ่อนไหว โดยจะหารือกับหน่วยงาน และผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีท่าทีการเปิดตลาดที่เหมาะสม ในขั้นตอนของการดำเนินงานในระยะต่อไป" นายอภิชาติ กล่าว

นายอภิชาติ กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์การค้าสินค้าเกษตรระหว่างไทยกับกลุ่มสหภาพยุโรป (ไม่รวมยางพารา) ในช่วงปี 2553-2555 พบว่า ไทยมีมูลค่าส่งออกเฉลี่ย 3,968 ล้านบาทต่อปี โดยสินค้าส่งออกสำคัญคือ อาหารแปรรูป ข้าว และผัก/ผลไม้แปรรูป ในขณะที่มีมูลค่านำเข้าเฉลี่ย 4,501 ล้านบาทต่อปี โดยสินค้านำเข้าสำคัญคือ ประมง (กว่าร้อยละ 70 ของมูลค่านำเข้าสินค้าเกษตรทั้งหมด) น้ำมันจากพืช และโกโก้และผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะเห็นได้ว่า ยังมีมูลค่าการค้าระหว่างกันไม่มากนัก โดยการเจรจา FTA จะเป็นปัจจัยหนึ่งซึ่งสนับสนุนให้ทั้งสองฝ่ายสามารถเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันได้ เนื่องจาก EFTA มีมาตรการภาษีที่ค่อนข้างซับซ้อน ในขณะที่ไทยมีความจำเป็นต้องนำเข้าสินค้าประมงเพื่อนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเช่นกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ