Analysis: นายกฯคนใหม่ของอิตาลีเตรียมรับมือกับนักการเมืองรุ่นเก๋า

ข่าวต่างประเทศ Thursday April 25, 2013 15:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเอ็นริโก้ เลตตา นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอิตาลีถือว่าได้มาเป็นหน้าเป็นตาให้กับหนุ่มสาวรุ่นใหม่ของอิตาลีบนเวทีการเมืองระดับสูงสุดของประเทศ แต่นายกฯคนใหม่ล่าสุดนี้ต้องมีภารกิจในการรับมือกับนักการเมืองรุ่นเก๋าของประเทศ เพื่อที่จะบริหารงานรัฐบาล

นายเลตตา ในวัย 46 ปี ถือเป็นนายกฯที่มีอายุน้อยที่สุดเป็นอันดับ 2 ของอิตาลี ทั้งที่วงการการเมืองของแดนมักกะโรนีเต็มไปด้วยนักการเมืองรุ่นเก๋า โดยอดีตนายกฯที่มีอายุน้อยอีกคนของอิตาลี คือ อามินตอเร ฟานฟานี วัย 45 ปี ที่ได้ทำหน้าที่นายกฯอิตาลีเมื่อปี 2497

คงจะไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องนักที่จะกล่าวว่า เลตตาเป็นส่วนหนึ่งของความเคลื่อนไหวของนักการเมืองรุ่นเยาว์ เนื่องจากประธานาธิบดีจิออร์โจ นาโปลิตาโน ของอิตาลี ซึ่งมีอายุถึง 87 ปี ได้ขอให้เขามารับตำแหน่งดังกล่าว ด้วยเหตุนี้เสียงสนับสนุนของนายเลตตาในรัฐสภาจึงจะขึ้นอยู่กับพรรคร่วมรัฐบาล รวมถึงกลุ่มผู้สนับสนุนนายมาริโอ มอนติ อดีตนายกฯวัย 70 ปี และนายซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี อดีตนายกฯวัย 76 ปีด้วยเช่นกัน

พรรคการเมืองบางพรรคที่อยุ่ในกลุ่มพรรคร่วมรัฐบาลของนายเลตตา ออกมาระบุเลยว่า จะไม่สนับสนุนรัฐบาลให้ต่อต้านนายแบร์ลุสโคนี

นายแบร์ลุสโคนีถือเป็นหนึ่งในนักการเมืองที่แบ่งพรรคแบ่งพวกมากที่สุดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เครือข่ายธุรกิจโทรทัศน์ของแบร์ลุสโคนีสามารถกำหนดมุมมองของผู้ชมรายการโทรทัศน์มาแล้วถึง 2 รุ่นด้วยกัน ในระหว่างที่เขาทำหน้าที่ในตำแหน่งนายกฯนั้นก็มีเรื่องอื้อฉาวทั้งเรื่องส่วนตัวและทางกฎหมาย จนทำให้เกิดความกังวลว่า อิตาลีอาจจะตกเป็นเหยื่อของวิกฤตหนี้ยุโรป

แต่เขาก็ยังได้รับเสียงสนับสนุนอย่างมากจากประชาชน โพลล์สำนักต่างๆระบุว่า หากมีการจัดการเลือกตั้งวันนี้ นายแบร์ลุสโคนีก็มีแนวโน้มว่าจะเข้าวินอยู่ดี

สถานการณ์เช่นนี้มีแนวโน้มว่า จะก่อให้เกิดความขัดแย้งในเรื่องผลประโยชน์ของนายแบร์ลุสโคนี ผู้ซึ่งให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนรัฐบาลชุดนายเลตต้า แต่ก็น่าคิดว่าใครจะได้ผลประโยชน์มากที่สุด หากรัฐบาลชุดใหม่ล่ม

ภารกิจแรกของนายเลตตานั้น คงจะเป็นเรื่องการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่ที่จะมาทำหน้าที่แทนคณะของนายมอนติ โดยนายเลตตากล่าวว่า ตนเองจะเริ่มปรึกษาหารือในประเด็นดังกล่าววันนี้ และในทันทีที่มีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้นมาได้แล้ว รัฐบาลของนายเลตตาก็ต้องเผชิญกับศึกลงมติไว้วางใจจากรัฐสภา เพื่อที่จะได้เข้ามาทำหน้าที่

หลังจากนั้น เลตต้าจะต้องเผชิญกับสถานการณ์ท้าทายที่สำคัญๆอีกมากมาย ตั้งแต่การผลักดันผ่านการปฏิรูประบบการเลือกตั้งที่อาจจะช่วยป้องกันไม่ให้อิตาลีต้องเผชิญกับวิกฤตทางการเมืองเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นเมื่อคราวที่มีการจัดการเลือกตั้งขึ้นแต่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เมื่อเดือนก.พ.ที่ผ่านมา ภารกิจที่ท้าทายต่อไปก็คือ การดำเนินการตามนโยบายของนายมอนติเพื่อที่จะลดภาระหนี้สินของอิตาลีลง และการรักษาเสถียรภาพภายในรัฐบาลที่ดูเหมือนว่าจะไม่มีเอกภาพเท่าไรนัก

แต่ในบรรดาสถานการณ์ที่ท้าทายมากที่สุดนั้น นายมาร์เซลโล เมสซอรี นักเศรษฐศาสตร์การเมืองจากมหาวิทยาลัย LUISS มองว่า ภารกิจเร่งด่วนที่ต้องรีบดำเนินการมากที่สุดนั้นคือ การเร่งฟื้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจอีกครั้ง

นายเมสซอรีกล่าวว่า สถานการณ์ท้าทายที่สำคัญในระยะใกล้คือ การลดจำนวนคนว่างงานและการผลักดันให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หลังจากนั้น รัฐบาลจะต้องเพิ่มประสิทธิภาพของรัฐบาลและปฏิรูปแนวทางในการจัดทำนโยบาย แต่การขยายตัวก็ถือเป็นกุญแจสำคัญ เพราะการขยายตัวของเศรษฐกิจนั้นมีความสำคัญมากกว่าปัญหาอื่นๆ

แต่เมื่อพิจารณาจากการส่งสัญญาณของนายกฯคนใหม่แล้ว ดูเหมือนว่านายเลตตาจะมุ่งมั่นไปที่การฟื้นศรัทธาของประชาชนที่มีต่อระบอบการเมือง ซึ่งนายเลตตากล่าวว่า "การเมืองของประเทศดูเหมือนว่าสูญสิ้นซึ่งความน่าเชื่อถือทั้งหมดทั้งปวงไปเสียแล้ว เมื่อพิจารณาจากภาวะไร้ประสิทธิภาพและคะแนนนิมของรัฐบาลชุดที่ผ่านๆมาของอิตาลี ซึ่งเรื่องนี้ดูเหมือนว่าจะเป็นความท้าทายที่ยากจะรับมือมากที่สุด

เอริค เจ ไลแมน จากสำนักข่าวซินหัวรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ