นายกฯ ร่วมประชุมอาเซียนซัมมิท แนะเดินหน้า 3 เสาหลัก-กระชับสัมพันธ์จีน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 25, 2013 16:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 22 ร่วมกับผู้นำอาเซียน เพื่อติดตามความคืบหน้าในการสร้างประชาคมอาเซียนว่า อาเซียนต้องเสริมสร้างการอยู่ร่วมกันทางการเมืองมองไปข้างหน้า และร่วมกับประเทศมหาอำนาจในกรอบการดำเนินการต่างๆที่อาเซียนเป็นผู้นำ ซึ่งปฏิบัติการนี้จะช่วยให้อาเซียนคงไว้ซึ่งความเป็นภูมิภาคที่มั่นคงและสันติ เอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ และคงไว้ซึ่งการรวมตัวทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายระยะยาวของประชาคมเอเชียตะวันออก รวมทั้ง การคงไว้ให้อาเซียนเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญ เพื่อวางผังอนาคตของภูมิภาค

ในการนี้อาเซียนต้องยกระดับตนเอง โดยมีบทบาทสำคัญในประเด็นระหว่างประเทศในเวทีสำคัญ อาเซียนจะต้องกำหนดประเด็นที่อยู่ในความสนใจของโลก ที่อาเซียนสามารถมีส่วนร่วม เช่น เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน การบริหารจัดการภัยภิบัติและการรักษาสันติภาพ

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญต่อความก้าวหน้าในการดำเนินการของ 3 เสาหลักของอาเซียน ที่อาเซียนจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 ประกอบด้วย ด้านเสาหลักเศรษฐกิจ อาเซียนต้องให้ความสำคัญกับการรวมตัวทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกให้กว้างขึ้น และขับเคลื่อน“ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคของอาเซียน" (Regional Comprehensive Economic Partnership) ให้ดำเนินต่อไป

ด้านเสาหลักการเมืองและความมั่นคง ต้องส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค เพื่อรักษาบรรยากาศให้เอื้อต่อการพัฒนาด้านเศรษฐกิจต่อไป โดยประเทศสมาชิกต้องส่งเสริมความร่วมมือระหว่างชายแดนเพื่อความมั่งคั่งระหว่างประเทศสมาชิก นอกจากนี้ สมาชิกอาเซียนควรสนใจความท้าทายใหม่อันเกิดจากการข้ามพรมแดนหลังการรวมตัวเป็นประชาคม เพราะสิ่งเหล่านี้จะกระทบต่อความปลอดภัยและความมั่นคงของประชาชนในประเทศสมาชิก

ทั้งนี้ อาเซียนยังต้องให้ความสำคัญกับการส่งเสริมธรรมาภิบาลและความโปร่งใส และผลักดันให้มีการนำปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชน ไปปฏิบัติให้เกิดผล ซึ่งจะช่วยให้เกิดกระบวนการที่จะส่งเสริมสิทธิมนุษยชน และนำไปสู่การป้องกัน

เสาหลักสังคมและวัฒนธรรม อาเซียนต้องยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในการพัฒนาความสามารถของภูมิภาคอาเซียนในการป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อ และ ส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางสุขภาพ เพื่อช่วยให้ประชาชนได้รับบริการสุขภาพที่จำเป็นและพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น

ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้เสนอต่อที่ประชุมผู้นำอาเซียนกรณีปัญหาทะเลจีนใต้ (Code of Conduct : CoC) ซึ่งผูกพันโดยตรงกับอนาคตอาเซียน ซึ่งไทยในฐานะประเทศผู้ประสานงานอาเซียน-จีน ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อประเด็นดังกล่าว และในปีที่อาเซียนและจีนฉลองครบรอบ 10 ปีแห่งความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ อาเซียนควรยกระดับความเป็นหุ้นส่วนนี้ให้สูงขึ้น โดยไม่ปล่อยให้ประเด็นทะเลจีนใต้บดบังความสัมพันธ์อาเซียน-จีน ที่สำคัญต่อสันติภาพและความรุ่งเรืองของภูมิภาค

ทั้งนี้ การแก้ปัญหาดังกล่าวต้องควบคู่ไปกับการเดินหน้าความเป็นหุ้นส่วนกับจีน เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย อาเซียนต้องมีเอกภาพ และผูกประสานกันและสร้างสรรค์ โดยต้องมีความตั้งใจทางการเมืองทั้งอาเซียนและจีน

"อาเซียนต้องทำงานกันอย่างใกล้ชิดก้าวต่อก้าว สร้างความเชื่อมั่นขึ้นใหม่ และขยายประเด็นพื้นฐานร่วมกันระหว่างอาเซียนและจีน ขณะที่แสวงหาความก้าวหน้าของ COC"

การก้าวไปข้างหน้า หลักการ 6 ข้อของอาเซียนและแถลงการณ์ผู้นำที่อาเซียนและจีนประกาศร่วมกันที่พนมเปญ จะเป็นฐานสำคัญในการทำงาน นอกจากนี้ อาเซียนมีความยินดีต่อการขับเคลื่อนของเจ้าหน้าที่ระดับสูง ที่มุ่งก้าวไปสู่ทิศทางดังกล่าวนี้ในการประชุมที่ปักกิ่งเมื่อต้นเดือน ทั้งนี้ อาเซียนจะต้องส่งสารที่ชัดเจนไปยังจีนเพื่อให้จีนทำงานร่วมกันในแนวทางเดียวกัน และแจ้งให้จีนรับทราบว่า แนวทางที่ดีที่สุดที่จะฉลองความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ครบรอบ 10 ปี คือการแสดงพัฒนาการสู่ข้อสรุปของ COC หรือแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้

สำหรับก้าวต่อไป นายกรัฐมนตรีตระหนักดีว่ากระบวนการ COC ต้องใช้เวลา แต่เชื่อว่า การประชุมสุดยอดอาเซียน — จีน ครั้งหน้าในเดือนตุลาคมจะมีการแสดงความตั้งใจทางการเมืองและแก้ปัญหาเพื่อทำงานร่วมกันต่อไป โดยความมุ่งมั่นทางการเมืองต้องชี้ชัดในแถลงการณ์ที่จะหยิบยกในที่ประชุมฯ อีกทั้ง อาเซียนมีความยืดหยุ่นต่อรูปแบบทั้งแถลงการณ์เดี่ยว หรือเป็นส่วนหนึ่งของเอกสารผลลัพธ์การประชุม โดยบรรจุการยืนยันต่อหลักการเบื้องต้น ที่สะท้อนพื้นฐานร่วมกันระหว่างอาเซียนและจีน

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเห็นด้วยว่า จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งหากทุกส่วนสามารถตกลงที่ร่วมมุ่งมั่นจะยับยั้งและหลีกเลี่ยงการกระทำใดๆที่ทำให้สถานการณ์ซับซ้อนยิ่งขึ้น นับจากนี้ จนถึงการประชุมในเดือนตุลาคม อาเซียนต้องทำงานร่วมกันเพื่อขยายพื้นฐานร่วมกันระหว่างอาเซียนและจีน โดยคาดว่าจะมีการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน — จีน สมัยพิเศษที่กรุงปักกิ่งในเดือนสิงหาคมหรือกันยายนนี้ ซึ่งจะเป็นโอกาสสำคัญของสองฝ่ายในการวางแผนการดำเนิงานสำหรับผลของการประชุมผู้นำฯในเดือนตุลาคม ทั้งนี้ ไทยยินดีเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการในปลายเดือนกรกฎาคม หรือสิงหาคม หากประเทศสมาชิกเห็นว่าจะเป็นประโยชน์

สำหรับข้อเสนอการกำหนดทิศทางของอาเซียนในอนาคต (ASEAN’s Future Direction) หลังปี 2558 นั้น นายกรัฐมนตรีเสนอให้แปลงความหลากหลายให้เป็นโอกาส มีความรับผิดชอบต่อภูมิภาคและโลกมากขึ้น เสริมสร้างศักยภาพของอาเซียนเพื่อรับมือกับความท้าทายต่างๆที่เกิดขึ้น และทบทวนและสร้างความเข้มแข็งให้กับกระบวนการรวมตัวกัน โดยทบทวนบทบาทของอาเซียนแต่ละภาคส่วน รวมทั้งปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันเพื่อกำหนดกระบวนการดำเนินงานและการเพิ่มประสิทธิภาพ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ