ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์โดยกรมการค้าต่างประเทศ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จะร่วมกันจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังมาตรการนำเข้าสินค้าของประเทศคู่ค้าที่สำคัญ และเผยแพร่ข้อมูลให้ผู้ประกอบการทราบโดยเร็ว เป็นต้น
โดยที่ประชุมเห็นชอบร่วมกันที่จะให้กระทรวงพาณิชย์ทำหนังสือถึงธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อแสดงความกังวลต่อการแก้ไขปัญหาเงินบาทแข็งค่า และให้นำเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนที่ภาคเอกชนเสนอไปให้ด้วย เพื่อให้ ธปท.นำไปใช้แก้ไขค่าเงินบาทแข็งค่าต่อไป ซึ่งคาดสัปดาห์หน้าน่าจะส่งหนังสือดังกล่าวไปยังธปท.ได้
ส่วนเป้าหมายมูลค่าการส่งออกในปี 56 ที่ประชุมยืนยันที่จะคงเป้าหมายขยายตัวไว้ที่ 8-9% จากปีก่อน คิดเป็นมูลค่า 250,41 0ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อให้เป็นเป้าหมายพยายามในการผลักดันการส่งออก แต่จะมีการประชุมทบทวนสถานการณ์ส่งออกร่วมกับผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) ในวันที่ 22 พ.ค.นี้ ซึ่งจะทำให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นว่าการส่งออกสินค้าไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ตามเป้าหมายหรือไม่
พร้อมกันนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังได้แต่งตั้งคณะทำงาน ทำหน้าที่คล้ายกับคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน หรือ กรอ.พาณิชย์ ซึ่งจะประชุมทุกเดือน เพื่อติดตามและแก้ไขปัญหาส่งออกเร่งด่วนเป็นรายอุตสาหกรรม มีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน และให้รายงานให้ รมว.พาณิชย์ทราบทุกเดือน เพื่อจะได้มีมาตรการแก้ไขหรือให้ความช่วยเหลือได้ทันท่วงที
นอกจากนั้น ที่ประชุมเห็นชอบให้นำข้อร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาและอุปสรรคการส่งออกรายสินค้า เช่น อัญมณี และเครื่องประดับ กุ้งสด แช่เย็นแช่แข็ง สินค้าอิเล็คทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ยาง และเครื่องนุ่งห่ม เสนอคณะทำงานร่วมกับภาคเอกชน 2 คณะ เพื่อผลักดันและแก้ไขประเด็นปัญหาทางการค้า และอุปสรรคในการเจรจาความตกลง FTA
ด้านนายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ปัญหาอัตราแลกเปลี่ยนผันผวน ทำให้ผู้ส่งออกไม่สามารถกำหนดราคาสินค้าที่จะรับคำสั่งซื้อใหม่ได้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อยอดการส่งออกสินค้าในช่วงต้นไตรมาส 3 รุนแรงมากขึ้น และหากรัฐบาลยังไม่มีมาตรการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน จะทำให้ยอดการส่งออกทั้งปี 56 ขยายตัวได้ไม่ถึงเป้าหมาย 8-9% แน่นอน
"ส.อ.ท.ยืนยันมาตรการที่เคยเสนอไปก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะที่เสนอให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลดดอกเบี้ยนโยบายลงทันที 1% เพราะไทยไม่มีปัญหาเงินเฟ้อ ซึ่งน่าจะทำได้ทันที และกำหนดมาตรการกันเงินสำรอง 30% อย่างน้อย 3 เดือน เพราะหลายๆ ประเทศ เช่น ฮ่องกง มาเลเซีย ดำเนินการสกัดการไหลเข้าของเงินทุนร้อนจากต่างประเทศ โดยกังวลว่าถึงใช้ยาแรง แต่มาช้า ก็อาจจะไม่ทันการ" นายวัลลภกล่าว