สำหรับปัจจัยที่สนับสนุนแนวโน้มการขยายตัวการส่งออกไก่ โดยเฉพาะไก่สดแช่เย็นแช่แข็งของไทยในปี 56 พบว่า ในส่วนตลาดญี่ปุ่นนั้น มีความเป็นไปได้ที่สินค้าไก่สดจากไทยจะไปทดแทนการนำเข้าจากบราซิล เนื่องจากไก่ของไทยนับว่าเป็นสินค้าที่ได้คุณภาพ โดยเฉพาะในเรื่องฝีมือการตัดแต่งชิ้นส่วนที่สามารถผลิตได้ตรงกับความต้องการของผู้นำเข้า ขณะที่ตลาดอียู (ตลาดนำเข้าไก่อันดับสามของโลก และมีความต้องการนำเข้าไก่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง) และมีความเป็นไปได้ที่อียูจะหันมานำเข้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็งจากไทยมากขึ้น โดยใช้สิทธิประโยชน์จากโควตาการส่งออกที่ไทยได้รับ (92,610 ตันต่อปี โดยเสียภาษีร้อยละ 15.4) ขณะที่ปัจจุบันอียูนำเข้าจากบราซิลเป็นหลัก ซึ่งปริมาณการนำเข้าจากบราซิลได้เกินโควตา (170,807 ตันต่อปี) ส่งผลให้ผู้นำเข้าต้องเสียภาษีในอัตราที่ค่อนข้างสูง โดยภาษีนอกโควตาสำหรับไก่สดอยู่ที่ตันละ 1,300 ยูโร
อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจุบันการเลี้ยงไก่และการผลิตของไทยจะเป็นระบบปิด แต่ทุกฝ่ายคงต้องเฝ้าระวังการเกิดโรคไข้หวัดนกในประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงอีกด้วย นอกเหนือจากความพยายามในการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องแล้ว ทางผู้ประกอบการส่งออกไก่ไทยจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพสินค้าเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้นำเข้าได้อย่างตรงจุดและหลากหลายมากขึ้น ทั้งนี้ เพื่อให้สินค้าไก่ของไทยมีมูลค่าเพิ่มและสามารถฉีกหนีการแข่งขันด้านราคาจากคู่แข่ง รวมถึง การแสวงหาตลาดศักยภาพใหม่ เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แอฟริกาใต้ และรัสเซีย ที่มีแนวโน้มเพิ่มความต้องการนำเข้าสินค้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็งจากไทยมากขึ้นอย่างเด่นชัดในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา