ส่วนผลกระทบที่มีต่อการทำงาน หลังจากมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท แรงงานส่วนใหญ่ร้อยละ 65.4 ระบุว่าไม่ได้รับผลกระทบ ขณะที่ร้อยละ 34.6 ระบุว่าได้รับผลกระทบ ในจำนวนนี้ร้อยละ 16.5 ระบุว่าทำงานล่วงเวลา (OT) ได้น้อยลง ร้อยละ 9.2 ระบุว่าต้องทำงานหนักมากขึ้น และร้อยละ 4.2 ระบุว่าไม่มีการปรับขึ้นค่าจ้างในช่วงที่ผ่านมา
เมื่อถามถึงชีวิตความเป็นอยู่ หลังจากมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 45.9 เห็นว่ามีชีวิตความเป็นอยู่เหมือนเดิม (เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.4 จากการสำรวจในปี 55) ขณะที่ร้อยละ 44.2 เห็นว่าดีขึ้น (ลดลงร้อยละ 16.5) และร้อยละ 9.9 เห็นว่าแย่ลง (เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1) โดยสาเหตุที่ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ไม่ดีขึ้นอันดับแรกคือ ข้าวของแพงขึ้น (ร้อยละ 85.9) รองลงมาคือ ขาดสวัสดิการช่วยเหลือ/สวัสดิการแย่ลง ( ร้อยละ 7.1) และงานไม่มั่นคง ไม่รู้จะถูกเลิกจ้างตอนไหน (ร้อยละ 4.4)
สุดท้ายเมื่อถามว่า “มีความกังวลว่าจะตกงานมากน้อยเพียงใด หลังจากการขึ้นค่าแรง 300 บาทมีผลทำให้ผู้ประกอบการ SME มีการลดพนักงานลง 15% (ข้อมูลจากสภาอุตสาหกรรมฯ) เพื่อประคองกิจการให้อยู่รอด" ร้อยละ 73.2 กังวลน้อยถึงน้อยที่สุด ขณะที่ร้อยละ 26.8 กังวลมากถึงมากที่สุด
ทั้งนี้ กรุงเทพโพลล์ ได้ทำการสำรวจโดยสุ่มตัวอย่างจากประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จากกลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 1,052 คน