ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลลาร์ร่วง จากคาดการณ์เฟดเดินหน้าโครงการ QE

ข่าวต่างประเทศ Tuesday April 30, 2013 07:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐร่วงลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (29 เม.ย.) เนื่องจากกระแสคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะยังคงเดินหน้าใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ด้วยการซื้อพันธบัตร ในการประชุมสัปดาห์นี้

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐร่วงลงเมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 98.01 เยน จากระดับของวันศุกร์ที่ 98.22 เยน และอ่อนแรงลงเมื่อเทียบกับฟรังค์สวิสที่ระดับ 0.9371 ฟรังค์ จากระดับ 0.9429 ฟรังค์

ขณะที่ค่าเงินยูโรพุ่งขึ้นแตะระดับ 1.3096 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.3028 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนเงินปอนด์พุ่งขึ้นแตะระดับ 1.5489 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.5488 ดอลลาร์สหรัฐ และค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียพุ่งขึ้นแตะระดับ 1.0358 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.0282 ดอลลาร์สหรัฐ

สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนแรงลงจากการคาดการณ์ที่ว่า เฟดจะเดินหน้าโครงการซื้อพันธบัตรมูล่า 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน หลังจากมีข้อมูลบ่งชี้ถึงความอ่อนแอของเศรษฐกิจสหรัฐ โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขประมาณการครั้งแรกของจีดีพีที่แท้จริงประจำไตรมาส 1/2556 ขยายตัว 2.5% ซึ่งต่ำกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดการณ์ แม้จะดีกว่าไตรมาส 4/2555 ที่ขยายตัวเพียง 0.4%

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคช่วงท้ายเดือนเม.ย.จากรอยเตอร์/มหาวิทยาลัยมิชิแกน ลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือนที่ 76.4 หลังจากเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือนที่ 78.6 ในเดือนมี.ค. ขณะที่ชาวอเมริกันมีมุมมองลบมากขึ้นเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจ

ส่วนสกุลเงินยูโรแข็งค่าขึ้นหลังจากต้นทุนการกู้ยืมของรัฐบาลสเปนปรับตัวลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปี หลังจากรัฐบาลสามารถประมูลขายพันธบัตรได้มากขึ้น ภายหลังจากมีรายงานว่ารัฐบาลใหม่ของอิตาลีได้สาบานตนเข้ารับตำแหน่งเมื่อวานนี้ ท่ามกลางความหวังเกี่ยวกับการปฏิรูปอย่างเร่งด่วนเพื่อจัดการกับภาวะถดถอย

นักวิเคราะห์คาดว่า นายกรัฐมนตรีเลตตาและคณะรัฐมนตรีชุดใหม่จะได้รับการลงมติไว้วางใจจากทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาในวันจันทร์นี้ และจะเริ่มภารกิจเร่งด่วนในการจัดการกับเศรษฐกิจที่ตกต่ำและอัตราว่างงานที่พุ่งขึ้นในอิตาลี อันเป็นผลจากภาวะถดถอยหลังจากอิตาลีกลายเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศรายแรกๆของยูโรโซนที่ตกเป็นเหยื่อของวิกฤตการเงินโลก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ