สำหรับผลกระทบที่มีต่อการดำเนินชีวิตประจำวันนั้น ผู้ใช้แรงงานร้อยละ 55.16 ระบุว่ายังใช้ชีวิตและความเป็นอยู่เหมือนเดิมเพราะ ปกติก็ได้ค่าแรงขั้นต่ำมากกว่า 300 บาท/วันอยู่แล้ว ส่วนที่ได้มาก็ใช้จ่ายไปวันๆ ไม่มีผลกระทบอะไร ขณะที่ร้อยละ 29.49 ระบุว่า ดีขึ้น เพราะมีรายได้เพิ่มมากขึ้นจึงมีเงินเพียงพอสำหรับในการใช้จ่ายมากขึ้น และบางส่วนก็เหลือเก็บเป็นเงินออม แต่อีกร้อยละ 15.35 ระบุว่า แย่ลงเพราะข้าวของก็มีราคาแพงขึ้นตามไปด้วย และสินค้าบางอย่างก็มีราคาที่แพงมากกว่าปกติ
ส่วนความเห็นกรณีที่รัฐบาลอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในไทยได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ผู้ใช้แรงงานร้อยละ 46.79 ระบุว่าไม่เห็นด้วยเพราะทำให้คนไทยตกงานและกังวลในเรื่องความปลอดภัยและความมั่นคงของชาติ มีการอพยพเข้ามาอยู่กันเยอะ ขณะที่ร้อยละ 42.73 เห็นด้วยเพราะคนไทยเลือกงาน งานบางอย่างคนไทยไม่ค่อยชอบทำ เหมาะกับแรงงานต่างด้าวมากกว่า และเป็นการเปิดโอกาสให้กับแรงงานต่างด้าว และเมื่อจำแนกตามระดับระดับการศึกษา พบว่า ผู้ที่จบระดับการศึกษาอนุปริญญาขึ้นไปมีสัดส่วนของผู้ที่เห็นด้วยมากกว่าผู้ที่จบระดับการศึกษาต่ำกว่าอนุปริญญา
เมื่อถามถึงความเห็นเกี่ยวกับการจัดตั้งพรรคแรงงาน และส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมัยหน้า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 64.83 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะจะเป็นกระบอกเสียงให้กับผู้ใช้แรงงานในประเทศ มีผู้ใช้แรงงานเยอะ เป็นกระบอกเสียงให้กับผู้ใช้แรงงาน น่าจะเป็นผลดี แต่รองลงมาร้อยละ 13.48 ไม่เห็นด้วย เพราะไม่น่าจะเป็นประโยชน์ เพราะถึงอย่างไรก็สู้สองพรรคการเมืองใหญ่ไม่ได้ และอีกร้อยละ 21.69 ไม่แน่ใจ
ทั้งนี้ นิด้าโพลล์ ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง "แรงงานไทยในยุคข้าวของแพง" ระหว่างวันที่ 25-26 เม.ย.ที่ผ่านมา จากประชาชนทั่วประเทศจำนวน 1,231 ตัวอย่าง เนื่องในโอกาสวันแรงงานแห่งชาติ 1 พ.ค.ที่กำลังจะมาถึง