(เพิ่มเติม) ธปท.เผยเศรษฐกิจ มี.ค.ชะลอลงเล็กน้อยจาก ก.พ.ยังต้องติดตามยืดเยื้อแค่ไหน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 30, 2013 14:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) แถลงภาวะเศรษฐกิจเดือนมีนาคม 2556 ชะลอลงจากเดือนก่อนตามการใช้จ่ายภาคเอกชนทั้งการอุปโภคบริโภคและการลงทุน อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าปรับตัวดีขึ้น สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวดีต่อเนื่อง ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมมีเสถียรภาพ อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ อัตราเงินเฟ้อชะลอลง ส่วนดุลการชำระเงินขาดดุลเล็กน้อย

นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธปท.กล่าวว่า การที่ภาวะเศรษฐกิจในเดือน มี.ค.ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าถือว่าไม่รุนแรงนัก และยังขยายตัวได้ดีเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่ง ธปท.มองว่าเศรษฐกิจกลับเข้าสู่ภาวะปกติ แต่ต้องจับตาการชะลอลงจะยืดเยื้อแค่ไหน เพราะรายได้เกษตรกรหดตัวไม่เป็นไปตามคาด และการปล่อยสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ชะลอลง ซึ่งอาจเป็นเพราะธนาคารพาณิชย์เพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อให้กับภาคธุรกิจและการบริโภค

"ต้องติดตามการชะลอลงเป็นเรื่องจริงหรือไม่ ถ้าเกิดจากความระมัดระวังก็ถือเป็นเรื่องดี แต่ถ้าชะลอลงเพราะดีมานด์หายไปก็ต้องติดตามดูว่าเป็นอย่างไร เพราะรายได้ของลูกจ้างยังอยู่ในเกณฑ์ดี การว่างงานต่ำ โอทียังสูง ดังนั้น น่าจะเป็นปัจจัยหนุนให้มีการใช้จ่าย เพราะฉะนั้นการแผ่วลงทั้งที่ยังมีปัจจัยหนุนยังไม่มีความชัดเจน จึงมองว่าอาจเป็นความระมัดระวังของธนาคารพาณิชย์"นายเมธี กล่าว

ทั้งนี้ การชะลอลงของสินเชื่อในเดือน มี.ค.ถือว่ายังเป็นปกติหลังจากเร่งตัวมากในช่วงที่ผ่านมา การดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ค่อนข้างจะไม่ทำให้สินเชื่อขยายตัวมาก เพราะต้องดูแลคุณภาพสินเชื่ออยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการรายงานว่าคุณภาพสินเชื่อลดลง

สำหรับเงินทุนเคลื่อนย้ายเดือนมี.ค.นั้น มีการไหลออกสุทธิ 222 ล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากคนไทยออกไปลงทุนในหลักทรัพย์ โดยเฉพาะตราสารหนี้ต่างประเทศมากขึ้นกว่า 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ เช่นในบราซิลและรัสเซีย แต่ขณะที่เงินบาทกลับแข็งค่า จึงต้องระมัดระวัง เพราะบางทีจังหวะเวลาในการไหลเข้าหรือไหลออกเป็นเรื่องของคนคาดการณ์ว่าเงินบาทจะแข็งค่า ทำให้มีผลต่อทิศทางค่าเงิน

อย่างไรก็ตาม นายเมธี ยอมรับว่าเดือนมี.ค.เงินทุนเคลื่อนย้ายผันผวน เพราะมีทั้งเงินไหลเข้าและไหลออกมามาก แต่เงินบาทก็ไม่ได้เคลื่อนไหวในทิศทางเดียว โดยมีทั้งแข็งค่าและอ่อนค่าสองทิศทาง โดยในเดือนนี้มีเงินทุนไหลเข้ามาลงทุนโดยเฉพาะในตราสารหนี้ภาครัฐอย่างต่อเนื่อง มากกว่าการไหลเข้าในตลาดหุ้น

ส่วนทิศทางอัตราดอกเบี้ยจะผ่อนคลายลงหรือไม่นั้น ต้องดูแนวโน้มเศรษฐกิจ เสถียรภาพเศรษฐกิจ แนวโน้มเงินเฟ้อ รวมทั้งสินเชื่อภาคครัวเรือนและภาคอสังหาริมทรัพย์ หลายตัวประกอบกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ